Pipes Feed Preview: ประชาไท Prachatai.com & ราคาดี ขายส่งด่วน Pemi Mall & สนุก! ข่าวฮอต

  1. คุยกับภาคประชาชน ร่าง รธน.ใหม่ยังไปต่อได้ มีกี่จุดต้องผลักดัน

    Sat, 23 Nov 2024 07:45:27 -0000

    คุยกับภาคประชาชน ร่าง รธน.ใหม่ยังไปต่อได้ มีกี่จุดต้องผลักดัน XmasUser

    หลัง กมธ.ร่วมเพื่อพิจารณา พ.ร.บ.ประชามติ มีมติไม่เอกฉันท์ คงหลักเกณฑ์ 2 ชั้น เมื่อ 20 พ.ย. 2567 และมีโอกาสสูงมากที่ร่าง กม.จะถูกดองต่ออีก 180 วัน หากสภาใดสภาหนึ่งไม่ยอมรับมติของ กมธ.ร่วมฯ

    การยืดเวลาออกไป 180 วันออกไป ส่งผลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จทันภายในสมัยรัฐบาล 'แพทองธาร' ยังคงมีแต่ความไม่แน่นอน แล้วประชาชนยังพอมีความหวังที่จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี 2570 หรือไม่

    ประชาไทคุยกับณัชปกร นามเมือง จากเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ พบว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้เสร็จทันปี 2570 ยังเป็นไปได้ แม้ไม่ง่ายนัก และจุดผลักดันที่ประชาชนต้องทำต่อ ทั้งกดดันฝากฝั่งบริหาร-นิติบัญญัติอย่างประธานสภาฯ ฝ่ายค้าน และสำคัญที่สุดคือ สว.-ภูมิใจไทย ให้สนับสนุนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยให้ได้

     

    ณัชปกร นามเมือง สมาชิกเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ และสมาชิกกรรมาธิการร่วม (กมธ.ร่วม) เพื่อพิจารณาศึกษาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์หลังจาก กมธ.ร่วมฯ มีมติคงหลักเกณฑ์ 2 ชั้น (Double Majority) เมื่อ 20 พ.ย. 2567 โดยเขามองว่า ประชาชนยังมีความหวังแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในสมัยรัฐบาลนี้ผ่านข้อเสนอภาคประชาชนในการจัดทำประชามติเพียง 2 ครั้ง แต่อุปสรรคสำคัญคือการเจรจากับพรรคภูมิใจไทย ที่กุมเสียงของวุฒิสภา ให้สนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจากการเลือกตั้ง 100%

    ณัชปกร นามเมือง

    หลักเกณฑ์การผ่านประชามติ 2 ชั้น คือ ถ้าจะผ่านประชามติต้อง 1. ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และ 2. ต้องมีผู้ออกเสียง ‘เห็นชอบ’ เกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงลงประชามติ

    ก่อนหน้านี้ สว.อ้างว่า ที่ต้องคงหลักเกณฑ์ 2 ชั้น เพราะว่าเป็นเรื่องความชอบธรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ จึงต้องให้มีประชาชนออกมาใช้สิทธิให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

    ต่อให้ สส.มาครบก็สู้ฝั่งหลักเกณฑ์ 2 ชั้นไม่ไหว

    เมื่อ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา การประชุมคณะ กมธ.ร่วมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ มี สส.ขาดประชุมถึง 3 คน แต่ในกรณีที่ตัวแทนฝั่ง สส.เข้าประชุมครบทุกคน จะสามารถเปลี่ยนแปลงผลการลงมติหรือไม่นั้น ณัชปกร มองประเด็นนี้ว่า ต่อให้ฝั่ง สส.มากันครบ ก็ยังโหวตแพ้เสียงจากสมาชิกวุฒิสภา เพราะว่า 2 สส.พรรคภูมิใจไทย แสดงจุดยืนอยู่ข้าง สว.ตั้งแต่การประชุมครั้งแรกเลือกประธาน กมธ.ร่วมฯ

    "ผลมันรู้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะว่าตอนเลือกประธานกรรมาธิการฯ ตอนนั้นทุกคนเข้าครบ แล้วเสียงฝั่ง สว.เขาได้ 16 แต้ม ทั้งที่มี สว.แค่ 14 คน ก็คือสามารถอนุมานได้ว่า พรรคภูมิใจไทยโหวตให้ สว.เป็นประธานฯ เพราะฉะนั้น เสียงมันไม่เท่ากันตั้งแต่แรก เพราะว่ามันมีเสียงภูมิใจไทย 2 คนเป็นฝั่งเดียวกัน เพราะฉะนั้น ต่อให้ สส.เข้ากันครบ มันก็ไม่ได้เปลี่ยนผลลัพธ์" ณัชปกร กล่าว

    โฆษกคณะกรรมาธิการร่วม พ.ร.บ.ประชาชาติ แถลงข่าวเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมเห็นชอบตามที่วุฒิสภาแก้ไขให้มีการออกเสียงประชามติ 2 ชั้นเมื่อ 20 พ.ย. 2567 (ที่มา: เว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎร

    รายชื่อผู้ที่อยู่ใน กมธ.ร่วม วันตัดสินหลักเกณธ์ประชามติ

    ฝั่งตัวแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)

    1. ประยุทธ์ ศิริพานิชย์

    2. ณัฐวุฒิ บัวประทุม (ลา)

    3. วิทยา แก้วภราดัย

    4. ยุทธการ รัตนมาศ (ลา)

    5. กรวีร์ ปริศนานันทกุล (งดออกเสียง)

    6. ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ (ลา)

    7. ไชยชนก ชิดชอบ (งดออกเสียง)

    8. นพดล ปัทมะ

    9. พริษฐ์ วัชรสินธุ

    10. นิกร จำนง

    11. จาตุรนต์ ฉายแสง

    12. กฤช เอื้อวงศ์

    13. ณัชปกร นามเมือง

    14. ปกป้อง จันวิทย์

    ฝั่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

    1. ชีวะภาพ ชีวะธรรม

    2. กอบ อัจนากิตติ

    3. ธวัช สุระบาล

    4. วุฒิชาติ กัลยาณมิตร

    5. นิเวศ พันธ์เจริญวรกุล

    6. บุญจันทร์ นวลสาย

    7. ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล

    8. พิชาญ พรศิริประทาน

    9. พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์

    10. สิทธิกร ธงยศ

    11. อภิชาติ งามกมล

    12. เอนก วีระพจนานันท์

    13. ฉัตรวรรษ แสงเพชร (งดออกเสียง ในฐานะประธาน กมธ.ร่วม)

    14. กมล รอดคล้าย

    มีโอกาสถูกยับยั้งร่าง กม. ไว้ 180 วัน

    กระบวนการหลังจาก กมธ.ร่วมฯ รับรองร่างกฎหมายแล้ว จะมีการยื่นร่างเข้าไปแต่ละสภาฯ คือวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยคาดว่าพิจารณาในต้นเดือน ธ.ค.นี้ หากสภาฯ ใดสภาหนึ่งไม่รับรอง ร่างกฎหมายจะถูกพับเก็บไว้ 180 วัน (6 เดือน) และจะนำมายื่นให้สภาพิจารณาใหม่ได้เมื่อครบกำหนดเวลา

    ณัชปกร ให้ความเห็นว่า สส.มีโอกาสมากที่จะไม่ยอมรับหลักเกณฑ์ประชามติ 2 ชั้น และน่าจะมีผลทำให้ร่างประชามติถูกยับยั้งไว้ 180 วัน ซึ่งคาดว่าจะกลับมาพิจารณาอีกครั้งประมาณ มิ.ย.-ก.ค. 2568 โดยถ้าผลออกมาเป็นแบบนี้จะไม่มีประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญ พร้อมกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดใน ก.พ. 2568 อย่างแน่นอน

    สมาชิกเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ มองว่า อย่างไรก็ดี การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ยังมีโอกาสทันภายในสมัยรัฐบาลนี้ โดยข้อเสนอของภาคประชาชนคือจัดทำประชามติ 2 ครั้ง (แตกต่างจากของมติ ครม.ที่ให้จัดทำ 3 ครั้ง) โดยช่วงระหว่าง 180 วันที่รอพิจารณา พ.ร.บ.ประชามติ ใหม่อีกครั้ง ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 คู่ขนาน เพื่อไม่ให้เสียเวลา และเพื่อให้หลังจากพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ของสภาฯ เสร็จสิ้นแล้ว จะได้ทำประชามติครั้งแรกได้เลยภายในปลายปี 2568

    หลังจากนั้น ปี 2569 ให้มีการจัดเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และก็ใช้ปี 2569 ทั้งปีทำรัฐธรรมนูญใหม่ และในปี 2570 ต้องมีการทำประชามติครั้งที่ 2 เพื่อรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จัดทำโดย ส.ส.ร.

    จับตา ปธ.สภาฯ บรรจุวาระ - สว.หนุนแก้ รธน. มาตรา 256

    ณัชปกร กล่าวต่อว่า 2 ประเด็นที่ต้องจับตาดูต่อวันมูหะมัดนอร์ มะทา (วันนอร์) ประธานรัฐสภา บรรจุร่างแก้ไขกฎหมาย รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เข้าสภาฯ เมื่อไร เพราะว่าก่อนหน้านี้ วันนอร์ไม่บรรจุวาระฯ เพราะโดนทักท้วงจากฝ่ายกฎหมายรัฐสภาว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ให้บรรจุวาระ และประเด็นต่อมา คือการให้ สว. และพรรคภูมิใจไทย เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญจาก ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 100%

    แม้ว่าพรรคภูมิใจไทยประกาศอย่างชัดเจนว่า “เห็นด้วย” กับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แต่เราก็เห็นกระบวนการเตะถ่วงของฝั่ง สว.สีน้ำเงินมาโดยตลอด โดยเฉพาะการแก้ พ.ร.บ.ประชามติให้กลับไปใช้หลักเกณฑ์ 2 ชั้น, ช่วงตั้ง กมธ.ร่วม 2 สภา สว.มีการเตะถ่วงเลื่อนการประชุม ทำให้เสียเวลาเกือบ 2 อาทิตย์, หรือการยืนยันร่างประชามติหลักเกณฑ์ 2 ชั้น ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่ามีโอกาสถูกยับยั้ง 180 วัน ดังนั้น มันเลยเป็นความท้าทายของปี 2568 ว่าเราจะทำโรดแมปประชามติได้หรือไม่ 

    ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องอาศัยเสียง 1 ใน 3 จากสมาชิกวุฒิสภา ถึงจะสามารถแก้ไขได้ แต่ตลอดมาก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า สว.กลุ่มใหญ่มักมีแนวโน้มเอนเอียงไปทางเดียวกับมติ หรือความเห็นของพรรคภูมิใจไทย

    เมื่อ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา พริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้เข้าหารืออย่างไม่เป็นทางการกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ ปมคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งได้ความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องจัดทำประชามติ 3 ครั้ง และมีพริษฐ์ มีแผนว่าจะเข้าหารือประธานสภาฯ ให้บรรจุวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภายใน 27 พ.ย.นี้ 

    ขณะเดียวกัน ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์สื่อ เสนอว่า หากร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ถูกตีความเป็นร่างกฎหมายการเงิน เพราะว่าการจัดทำประชามติต้องใช้งบประมาณ จะส่งผลให้ร่างไปผ่านการรับรองจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจช่วยร่นระยะเวลาจาก 180 วัน เหลือเพียง 10 วันได้ และอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จัดทำประชามติได้ 3 ครั้งตามมติ ครม.

    ชูศักดิ์ ศิรินิล

    ฉันทามติประชาชนส้ม-แดงจะเป็นคีย์สำคัญ

    ณัชปกร ตั้งข้อสังเกต เขาไม่คิดว่าพรรคภูมิใจไทยไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะว่าสถานภาพตอนนี้ใครขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็อ่อนแอมากๆ แต่สิ่งที่พรรคภูมิใจไทยพยายามทำคือ ทำยังไงที่จะเข้าไปแทรกแซงกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านการใช้กลไกวุฒิสภา

    "ผมกลัวว่ามันจะเกิดเหมือนกับสมัยที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ คือมี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งจริง แต่ว่ามีแต่งตั้งผสมมาด้วย และมีช่องทางให้พลพรรคของตัวเองเข้าช่องมาได้ ซึ่งมันจะทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่กลายเป็นเพียง 'พิธีกรรม'" ณัชปกร กล่าว

    เบื้องต้น คีย์แมนคนสำคัญที่อาจจะพอกดดันพรรคภูมิใจไทยได้มีด้วยกัน 2 ตัวแสดง คือ ฝ่ายรัฐบาล และภาคประชาชน

    สมาชิกเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ มองว่า นายกรัฐมนตรีอาจต้องพิจารณาว่า หากพรรคภูมิใจไทยเป็นอุปสรรคในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายกฯ อาจต้องยื่นเงื่อนไขปรับ ครม. เข้าไป แต่ไม่ทราบว่าจะประสบความสำเร็จในการกดดันมากแค่ไหน เพราะเสถียรภาพของรัฐบาลที่ยังมีแต่คำถาม

    อีกตัวแสดงสำคัญคือ ‘ภาคประชาชน’ ที่อาจจะต้องกดดันวุฒิสภาให้หนักข้อมากขึ้น เหมือนกับสมัย สว. 250 คนที่มาจากคณะรัฐประหาร อย่างไรก็ดี ณัชปกร มองว่าโจทย์ตอนนี้คือยังไงให้ประชาชนเห็นปัญหาของ ‘สว.สีน้ำเงิน’ มากยิ่งขึ้น และโจทย์ข้างหน้าคือ ประชาชนต้องคิดต่อว่าทำยังไงให้เขาเข้าไปอยู่ในสมการทางอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ได้ เพราะว่าตอนนี้ประชาชนไม่ได้อยู่ในสมการอำนาจนี้เลย

    "ถ้าเราอยากเห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวของประชาชนคนทั่วไป ภาคประชาสังคม หรือสื่อมวลชน อันนี้แหละเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่มันเดินหน้า เพราะคาดหวังกับพรรคเพื่อไทยตอนนี้ก็ยาก เพราะว่าเขาก็เปราะบาง เราจะไปเจรจาต่อรองกับภูมิใจไทยก็ยาก เพราะเขารู้สึกว่าเขาถือไพ่เหนือกว่า เราจะไปคาดหวังกับพรรคฝ่ายค้าน ก็ยากเข้าไปใหญ่ เพราะว่ามีจำนวน สส.จริง แต่ไม่มีอำนาจมากขนาดนั้น เพราะฉะนั้น ประชาชนทุกภาคส่วนมันต้องจับมือกันและกดดันให้ 3 องคาพยพ มันเดินหน้าต่อไปได้" ณัชปกร กล่าวทิ้งท้าย

    ติดตาม "ประชาไท Prachatai.com" ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้า https://prachataistore.net
  2. ศึกชิง อบจ. อุดรธานี เดือด ‘ส้ม-แดง’ เทสต์ระบบ วางเกมเลือกตั้งใหญ่

    Thu, 21 Nov 2024 12:31:10 -0000

    ศึกชิง อบจ. อุดรธานี เดือด ‘ส้ม-แดง’ เทสต์ระบบ วางเกมเลือกตั้งใหญ่ See Think

    ทำไมสนามเลือกตั้งนายก อบจ. อุดรธานี จึงกลายเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีระหว่าง ‘ส้ม-แดง’ ? ประชาไทวิเคราะห์เรื่องนี้จากหลายปัจจัย ไล่มาตั้งแต่ความพิเศษของพื้นที่ในฐานะ ‘เมืองหลวงคนเสื้อแดง’ , ข้อค้นพบเมื่อเปรียบเทียบตัวเลขผลการเลือกตั้งปี 2562 กับปี 2566 ที่กระแสส้มรุกคืบจนแชมป์เก่าหวั่นใจ รวมถึงมุมมองจากแกนนำระดับแม่เหล็กของทั้ง 2 พรรค

    การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานีในวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย. ที่จะถึงนี้ เป็นการแข่งขันระหว่างผู้สมัครจาก 2 พรรคหลัก คือ

    พรรคประชาชน เบอร์ 1 - คณิศร ขุริรัง ประธานสภาทนายความจังหวัดอุดรธานี 2 สมัยติด และอดีตรองนายก อบจ. (2552-2555)

    พรรคเพื่อไทย เบอร์ 2 - ศราวุธ เพชรพนมพร อดีต สส. 4 สมัย

    ทว่าศึกชิงนายก อบจ.ในครั้งนี้ถูกจับตามากกว่าสนามท้องถิ่นอื่นใด เพราะเป็นการประชันกันระหว่างพรรคส้ม-แดงเป็นครั้งแรกในภาคอีสานนับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่พลังส้มกสามารถแทรกตัวผ่านกำแพง ‘บ้านใหญ่’ ได้หลายจังหวัด 

    ในขณะที่อุดรธานียังมีความพิเศษเชิงพื้นที่เพราะเป็นพื้นที่พรรคเพื่อไทยมาตลอด 2 ทศวรรษ และถูกเรียกว่าเป็นเมืองหลวงของคนเสื้อแดง การเลือกตั้ง 2548, 2554, 2562 อุดรธานีแบ่งพื้นที่เป็น 8-10 เขต เรียกว่า เพื่อไทยได้ สส. กวาดทุกเขตยกจังหวัด

    จนมาปี 2566 นี้เองที่กระแสของก้าวไกลผงาดขึ้นช่วงชิงความนิยมเดิม แม้จะคว้า สส.เขตในจังหวัดอุดรได้เพียงเขต 1 เขตเดียว แต่หากดูคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ จะพบว่า ในความ “อันดับ 2” นั้น หลายพื้นที่ก็สูสีกับอันดับ 1 มากขึ้นทุกที 

    คะแนน สส.บัญชีรายชื่อ 10 เขต อุดรธานี

    เขต 1

    • ก้าวไกล 39,529
    • เพื่อไทย 26,599

    เขต 2

    • เพื่อไทย 37,194
    • ก้าวไกล 37,024

    เขต 3

    • เพื่อไทย 32,096
    • ก้าวไกล 28,124

    เขต 4

    • เพื่อไทย 33,209
    • ก้าวไกล 24,956

    เขต 5 

    • เพื่อไทย 36,683
    • ก้าวไกล 26,633

    เขต 6

    • เพื่อไทย 36,134
    • ก้าวไกล 26,368

    เขต 7

    • เพื่อไทย 36,301
    • ก้าวไกล 31,191

    เขต 8

    • เพื่อไทย 36,527
    • ก้าวไกล 27,505

    เขต 9

    • เพื่อไทย 39,407
    • ก้าวไกล 29,012

    เขต 10

    • เพื่อไทย 39,167
    • ก้าวไกล 27,585

    หากมองระดับภาคอีสาน เทียบปี 2562 กับ 2566 จะพบว่า 

    เพื่อไทย จากที่เคยได้ สส.เขต ทั้งหมด 84 คน ลดเหลือ 73 คน 
    ก้าวไกล จากที่เคยได้ สส.เขต ทั้งหมด 1 คน เพิ่มเป็น 8 คน 
    ภูมิใจไทย จากที่เคยได้ สส.เขตทั้งหมด 16 คน เพิ่มเป็น 35 คน

    ดังนั้น การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ จึงไม่ใช่การเลือกตั้งท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว (โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีลักษณะสูสี) แต่เป็นการวัดกระแสของ 2 พรรคใหญ่ เพื่อไทย-ประชาชน เพื่อดูทิศทางอนาคตการเลือกตั้งใหญ่ระดับประเทศในครั้งหน้า

    แม้หลายคนจะบอกว่า ‘วิธีเลือก’ ของประชาชนตอนเลือกตั้งท้องถิ่นต่างจากการเลือกตั้งใหญ่ เพราะท้องถิ่นอาศัยความสัมพันธ์กันจริงๆ ขณะที่เลือกตั้งประเทศนั้นอาศัยกระแส แต่ดูเหมือนตอนนี้ ‘อุดร’ กลายเป็นกระแสท้ารบกันเสียแล้ว

    ในช่วงสัปดาห์ที่แล้วแกนนำระดับแม่เหล็กของทั้ง 2 พรรคต่างทุ่มสรรพกำลังในการลงพื้นที่หาเสียงและเนื้อหาปรากฏตอบโต้กันในหน้าข่าวอยู่หลายวัน

    เทียบวิธีหาเสียง-นโยบาย

    พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนต่างลงพื้นที่หาเสียงในช่วงไล่เลี่ยกัน แต่แตกต่างกันที่จุดขายที่นำมาใช้หาเสียง สะท้อนมุมมองต่อท้องถิ่นที่ต่างกัน

    สำหรับพรรคเพื่อไทย มีการปรากฏตัวของทักษิณ แกนนำพรรคเพื่อไทยและอดีตแกนนำคนเสื้อแดง อาทิ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี, วิเชียร ขาวขำ อดีตนายก อบจ.อุดรธานี, พิพัฒน์ชัย ไพบูลย์ อดีตแกนนำ นปช., จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ก่อแก้ว พิกุลทอง สส.บัญชีรายชื่อ, ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ

    ทางด้านณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้เคยเป็นแกนนำ นปช. ได้โพสต์ภาพคู่กับ “ขวัญชัย สาราคำ” อดีตแกนนำ นปช. ผู้มีดำแหน่งเป็นประธานชมรมคนรักอุดรฯ พร้อมบอกด้วยว่าการต่อสู้ในอดีตส่งผลให้สุขภาพของขวัญชัยไม่ค่อยแข็งแรงเหมือนเก่า แต่ว่าหัวใจยังเหมือนเดิม

    ในช่วงวันที่ 13-14 พ.ย. อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณเปิดหน้าบนเวทีหาเสียงอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงของผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี และเป็นครั้งแรกที่เดินทางมาอุดรธานี นับตั้งแต่กลับเมืองไทยตั้งแต่ปีที่แล้ว

    ทักษิณอ้อนขอคะแนนจากคนเสื้อแดงหลายครั้ง ตั้งแต่ “คิดฮอตหลาย” “อย่าลืมผมนะ” และ “ผมกลับมาแล้ว” ปราศรัยหวนคืนความทรงจำเมื่อ 20 ปีที่แล้วเรื่องความสำเร็จของนโยบายไทยรักไทยและปลุกความเชื่อมั่นต่อนโยบายของรัฐบาลแพทองธาร อาทิ ดิจิทัลวอลเล็ต รวมทั้งการแก้ปัญหาหนี้สิน, การปราบยาเสพติด, การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน

    ขณะที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อปราศรัยตอนหนึ่งว่างบประมาณท้องถิ่นมีไม่มาก แต่ถ้า อบจ. กับรัฐบาลมาจากพรรคเดียวกัน เชื่อมประสานกัน การทำงานก็หนุนส่งกันได้

    ส่วนทางฝั่งพรรคประชาชนขนทัพ สส. และแกนนำระดับแม่เหล็กของพรรคส้มเดิมไปช่วยหาเสียงในช่วง 15-17 พ.ย. อาทิ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ, พรรณิการ์ วานิช รวมทั้ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่บินกลับจากสหรัฐอเมริกามาช่วยอ้อนขอคะแนนให้คณิศร โดยในช่วงก่อนหน้านั้น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล และศิริกัญญา ตันสกุล ก็ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาปราศรัยก่อนแล้ว แต่อาจไม่ได้เป็นกระแสมากนัก

    พรรคประชาชนชูสโลแกน “เปลี่ยนอุดรให้ก้าวไกล อบจ.รับใช้ประชาชน” แนวคิดหลักคือการกระจายอำนาจและงบประมาณลงสู่ท้องถิ่นเพื่อพัฒนาบริการสาธารณะ โดยชูโครงการเรือธงอย่าง “น้ำประปาดื่มได้” เป็นนโยบายด่วนทำทันทีภายใน 1 ปี นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงนโยบายรถเมล์ไฟฟ้า กำหนดเส้นทางเชื่อมโยงกลางเมืองอุดรธานี, ถนนปลอดหลุม ไฟสว่าง มีกล้องวงจรปิด เป็นต้น

    เรื่องที่เกี่ยวข้อง

    พรรคสีแดงมีแต้มต่อ

    ถ้ามองตามสภาพพื้นที่ เพื่อไทยมีความได้เปรียบอยู่หลายประการ ได้แก่

    หนึ่ง – ก่อนหน้านี้ตำแหน่งนายก อบจ. อุดรธานีเป็นของ “วิเชียร ขาวขำ” คนของเพื่อไทย 2 สมัยติดต่อกัน การส่งศราวุธลงเลือกตั้งในครั้งนี้จึงคือการรักษาเก้าอี้ให้ฝ่ายแชมป์

    สอง –  ศราวุธมีฐานเสียงในเมืองอยู่แล้วพอสมควร เขาเป็นอดีต สส.อุดรธานี เขต 1 อำเภอเมืองมาถึง 4 สมัยติดต่อกัน บวกกับเขายังเป็นลูกเขยของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีตรองนายกฯ และรมว.ยุติธรรมในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ส่วน “หทัยรัตน์ เพชรพนมพร” ผู้เป็นน้องสาวของศราวุธก็เป็น สส.อุดรธานี เขต 2 พรรคเพื่อไทย

    ทว่าในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาปี 2566 เขาเพิ่งสอบตกครั้งแรก หลังพ่ายแพ้ให้กระแสพรรคส้มที่ลามเข้ามาถึงอำเภอเมืองอุดรธานี

    สาม – พรรคสีส้มที่มีฐานเสียงเป็นคนรุ่นใหม่จำนวนมากเป็นฝ่ายเสียเปรียบในสนามท้องถิ่น เนื่องจากการเลือกตั้งท้องถิ่นมีปัจจัยที่แตกต่างจากการเลือกตั้งทั่วไปคือ ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งทำให้กลุ่มฐานเสียงของพรรคประชาชนที่ไปเรียนหรือไปทำงานที่จังหวัดอื่น ไม่สามารถมาโหวตให้พรรคประชาชนได้

    ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งปี 2566 เมื่อดูคะแนนของจังหวัดอุดรธานีทั้ง 10 เขตเลือกตั้ง โดยดูเฉพาะส่วนของบัตรเลือกตั้งนอกเขตและนอกราชอาณาจักร จะพบว่าพรรคก้าวไกลได้คะแนนส่วนนี้เป็นอันดับ 1 ทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อ (อ้างอิงข้อมูลจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง)

    พรรคสีส้มก็มีแต้มต่อ

    หนึ่ง - ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยถูกยื่นเรื่องร้องเรียนกับ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งก่อนหน้านี้สำนักข่าวอิศราเปิดเผยว่าภรรยาของเขาได้ร่วมถือหุ้นบริษัทอสังหาฯ ในภูเก็ตเมื่อปี 2557 ร่วมกับ ‘ตู้ห่าว’ นักธุรกิจจีนผู้ต้องหาคดียาเสพติด แม้ศราวุธได้มีการยื่นเพิ่มเติมบัญชีทรัพย์สินเพิ่มเติมแล้วและเคยให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทดังกล่าวยังไม่ได้ทำธุรกิจอะไร ภรรยาก็ยังไม่ได้รับประโยชน์ใด ผลสอบสวนก็ยังไม่มีความชัดเจน แต่เรื่องนี้ก็สุ่มเสี่ยงกลายเป็นเป้าสร้างความลังเลให้กับผู้ลงคะแนนได้

    ชัยธวัช ตุลาธน ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคประชาชนก็หยิบยกเรื่องนี้มาปราศรัยบนเวทีอุดรฯ  จนท้ายที่สุดศราวุธได้มอบหมายทนายความให้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับชัยธวัช และร้องเรียนกับ กกต.ว่าเป็นการจงใจปราศรัยใส่ร้าย

    สอง แม้ไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า แต่การเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 ก็เห็นพลังของ ‘หัวคะแนนธรรมชาติ’ อย่างคนรุ่นใหม่แล้วว่าพวกเขาจำนวนไม่น้อยติดต่อสื่อสารและบอก ‘ที่บ้าน’ ว่าควรเลือกใคร

    ทั้งนี้ ปัจจุบันพรรคประชาชนประกาศตัวแล้วว่าจะส่งผู้สมัครลงชิงนายก อบจ.12 ​จังหวัด ล็อคเป้าพร้อมประกาศชัดเจนว่าจะเลือกสู้ในพื้นที่ใดบ้าง

    เรื่องที่เกี่ยวข้อง

     

    แกนนำ 2 พรรคมองเกมนี้ยังไง

    พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า กล่าวในรายการ The Politics ทางมติชนทีวีว่า พรรคเพื่อไทยใช้เวทีเลือกตั้ง อบจ.อุดร เพื่อสนองเป้าหมายการเมืองภาพใหญ่ เห็นได้จากการที่ทักษิณปราศรัยพาดพิงพรรคส้มรวมถึงให้สัมภาษณ์พาดพิงธนาธร ทำให้คนหันมาสนใจสนามเลือกตั้งท้องถิ่นอุดรธานีในฐานะที่เป็นเวทีปะทะกันของส้ม-แดง

    “พอบอลมันถูกเตะเข้ามาสู่พวกเราแล้วกลายเป็นการเมืองระดับชาติ ดิฉันต้องใช้คำว่ามันไปกระตุ้นต่อมผู้รักประชาธิปไตยในอุดรธานี คำว่า “ตระบัดสัตย์ข้ามขั้ว” “ไปหลอมรวมกับอำมาตย์” หรือคำอย่างเช่น “ประชาชนเข้าใจผิด” “สีตก” มันไปกระตุ้นต่อมให้คนรู้สึกว่า เฮ้ยไม่ได้แล้ว นี่ไม่ใช่แค่การเมือง อบจ. ที่เป็นเรื่องน้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ แต่มันเป็นการแสดงพลังให้เห็นว่าคนอุดรจะต้องการการเมืองแบบไหน ไม่ใช่แค่เฉพาะ อบจ.”

    พรรณิการ์กล่าวว่า สถานการณ์ที่โทนอารมณ์ของผู้คนเป็นแบบนี้ถือเป็นคุณกับพรรคส้ม เพราะมันสอดคล้องกับสิ่งที่พรรคส้มสื่อสื่อสารมาตลอดในภาพใหญ่อยู่แล้ว และจากที่เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนเองได้ไปเดินแจกแผ่นพับหาเสียง เจอชาวบ้านหลายคนบอกว่าลูกๆ ของพวกเขากำลังจะบ้านมาเลือกตั้ง ซึ่งก็อาจเป็นผลมาจากการหาเสียงเลือกตั้ง อบจ.ที่ถูกโหมกระแสให้เป็นเรื่องการเมืองภาพใหญ่ “เป็นการเทสต์ว่าอีสานหลังจากตั้งรัฐบาลข้ามขั้วเป็นแบบไหน”

    พรรณิการ์กล่าวว่า สมรภูมินี้คล้ายกับการ “เทสต์ระบบ” เพราะเมื่อมองย้อนดูสนามการเลือกตั้งท้องถิ่นในพื้นที่อื่นๆ ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ปะทะกันอย่างชัดเจนระหว่างพรรคเพื่อไทยกับประชาชน แต่อุดรธานีเป็นสนามการเลือกตั้งท้องถิ่นแรกที่แดงกับส้มต้องแข่งกันในภาคอีสาน และก็เป็นธรรมดาที่พรรคการเมืองจะมองยาวไปถึงเลือกตั้งใหญ่ปี 2570  ฉะนั้นสนาม อบจ.อุดรธานีจึงสามารถบอกความนิยมได้ระดับหนึ่ง

    ทางด้าน ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ในรายการมีเรื่อง (อยาก) Live ว่าพรรคส้มเคยขึ้นสู่กระแสสูงในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วก็จริง แต่มันก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไปในทุกกรณี ถ้าดูจากโพลสำรวจความนิยมในช่วงหลัง เราจะเห็นว่าระดับความนิยมพรรคประชาชน ทั้งในตัวพรรคและผู้นำพรรคลดลง ในขณะที่ระดับคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยและผู้นำพรรคอย่างแพทองธารก็เพิ่มขึ้น

    “ถ้าเป็นสนามการเมืองท้องถิ่น ส่วนตัวผมให้น้ำหนักกับความเป็นจริงทางการเมือง ก็คือนักการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่เกาะติดกับคนในพื้นที่ ทำงานเครือข่าย ทำงานกับประชาชนมายาวนาน โอกาสเขาจะสูงกว่า ซึ่งพรรคประชาชนยังไม่เด่นในเรื่องนี้”

    ณัฐวุฒิกล่าวว่าตั้งแต่อนาคตใหม่มาจนถึงก้าวไกล พรรคสีส้มก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในสนาม อบจ.สักครั้งเลย ส่วนหนึ่งจึงต้องยอมรับว่าผู้สมัครที่อยู่ติดพื้นที่ มีผลงาน หรือวงศ์ตระกูลที่ผูกพันใกล้ชิดกับชาวบ้านก็มีโอกาสจะได้รับเลือกตั้งสูงกว่า ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการเลือกตั้งระดับประเทศเมื่อปีที่แล้ว กระแส “มีลุงไม่มีเรา” ที่สอดรับกับวาระทางการเมืองในตอนนั้น “มันก็วูบเดียวนำพาไปสู่ชัยชนะได้” แต่ในการเลือกตั้งท้องถิ่นมันไม่สามารถใช้กระแสแบบนั้นได้

    มุมมองนักวิชาการ

    รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาให้มุมมองกับสำนักข่าวทูเดย์ว่า การลงพื้นที่ของทักษิณในครั้งนี้สามารถมองได้ว่าเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกทั้งฝูง กล่าวคือเป็นการปลุกกระแสนิยมพรรคเพื่อไทยเพื่อหวังผลการเลือกตั้งในปี 2570 อีกทั้งยังป้องกันการรุกคืบของพรรคภูมิใจไทยที่จะขยับดึงคะแนนเสียงจากอีสานใต้ เริ่มเข้ามาอีสานกลางแล้ว รวมถึงเป็นการส่งสัญญาณไปถึงกลุ่มบ้านใหญ่ที่อาจยังลังเลในการเข้าร่วมกับเพื่อไทย

    ทางด้าน ดร. สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์กับสำนักข่าวพีพีทีวีว่า การที่ทักษิณเดินเกมปลุกกระแสชนกับพรรคส้ม อาจเป็นไปเพื่อรักษาบรรยากาศการต่อสู้ของ 2 พรรค ซึ่งในมุมหนึ่งก็อาจมองได้ว่าเป็นไปเพื่อสกัดความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่หวังจัดการกับทักษิณและพรรคเพื่อไทยผ่านกระบวนการทางกฎหมายและนักร้องต่างๆ

    ติดตาม "ประชาไท Prachatai.com" ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้า https://prachataistore.net
  3. ทำไมชาวเน็ตไทย-กัมพูชาตีกันฉ่ำ ? วิเคราะห์รากปัญหา ดรามาแย่งชิงวัฒนธรรม

    Fri, 15 Nov 2024 11:56:34 -0000

    ทำไมชาวเน็ตไทย-กัมพูชาตีกันฉ่ำ ? วิเคราะห์รากปัญหา ดรามาแย่งชิงวัฒนธรรม See Think

    ในยุคดิจิทัลที่ข้อพิพาทระหว่างประชาชนเกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย การปะทะกันของชาวเน็ตไทยกับกัมพูชาดูจะดรามามากกว่าเพื่อนบ้านอื่นใด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการ “เคลมวัฒนธรรม” ไล่มาตั้งแต่เรื่องกีฬาอย่าง “กุน ขแมร์” มวยเขมรในซีเกมส์ หรือคนดังอย่าง ลิซ่า แบล็กพิงค์ และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งชาวโซเชียลกัมพูชาบอกว่ามีเชื้อสายเขมร

    ไล่มาจนถึงเรื่องล่าสุด พรรคพลังประชารัฐจุดกระแสว่าไทยจะเสียเกาะกูด สืบเนื่องมาจาก MOU 44 ที่ไทยลงนามไว้ร่วมกับกัมพูชาตั้งแต่เมื่อปี 2544 ดรามาล่าสุดนี้แม้ว่าจะไม่ลุกลามใหญ่โตเท่ากรณีเขาพระวิหาร แต่ก็ถูกปั่นกระแสวนอยู่ในโซเชียลมาตั้งแต่ต้นเดือน ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีเหตุการณ์ที่ชาวโซเชียลถล่มพรรคภูมิใจไทย หลังจากที่รายงานข่าวว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะไปจับมือประเทศกัมพูชาเพื่อเดินหน้าวัฒนธรรมผลักดันซอฟท์พาวเวอร์ร่วมกัน จนเกิดทัวร์ลงอนุทิน และแฮชแท็ก #คัดค้านการใช้วัฒนธรรมร่วมกับเขมร ก็ติดเทรนด์ในเอกซ์

    ปัจจัยใดบ้างที่ทำให้ชาวเน็ต 2 ประเทศเขม่นกันรุนแรงเป็นพิเศษ และอะไรบ้างที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งของปรากฏการณ์การ ‘เคลม’ หรือการแย่งชิงวัฒนธรรมของสองเพื่อนบ้าน ที่ดูเหมือนจะไม่มีวันจบสิ้น ประชาไทหาคำตอบเรื่องนี้กับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธิบดี บัวคำศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์กัมพูชาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

     

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธิบดี บัวคำศรี 

    ทำไมไทยกับกัมพูชาชอบทะเลาะกัน

    สำหรับปรากฎการณ์กระทบกระทั่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ธิบดีไม่คิดว่ามันเป็น “ความขัดแย้ง” เพราะอันที่จริงชาวไทยกับชาวกัมพูชาแค่กระทบกระทั่งกัน หรือเรียกอีกอย่างว่า “เหม็นหน้า” ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะว่ามีช่องทางในการที่จะปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น

    อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์อธิบายเหตุปัจจัย 2 ส่วนที่อาจเป็นเหตุก่อดรามา อย่างแรกคือความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในอดีต อย่างที่สองคือประสบการณ์และความรับรู้ (Perception) ในปัจจุบัน ชาวไทยได้พบปะกับชาวกัมพูชาโดยตรงจากการเดินทางไปท่องเที่ยวหรือคนกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในไทย ซึ่งอย่างหลังนี้อาจทำให้เรามีความเข้าใจใหม่ต่อเพื่อนบ้าน แต่เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ที่มาแต่เดิมก็ยังคงอยู่

    “ที่ทางหรือฐานะของกัมพูชาในประวัติศาสตร์ไทย คือผู้ร้าย แต่เป็นผู้ร้ายที่มีสถานะไม่เท่ากับพม่าซึ่งเป็นศัตรูที่อาจจะมีฐานะที่ทัดเทียมกันในแง่ของการแพ้หรือชนะ แต่กัมพูชาในทางประวัติศาสตร์มักจะถูกมองว่าเป็นพวกที่ชอบลอบกัด ฉวยโอกาสมาโจมตีในเวลาที่จะอยุธยาหรือกรุงเทพฯ อ่อนกําลังลงหรืออยู่ในช่วงที่กำลังติดศึกกับพม่า

    ภาพหนึ่งที่มักจะยกขึ้นมาพูดถึง ก็คือกรณีของพระยาละแวกที่ยกทัพมาโจมตีอยุธยาในตอนที่อยุธยาติดศึกกับพม่า สุดท้ายพระนเรศวรก็ยกทัพไปปราบปรามพระยาละแวก นํามาซึ่งคําอธิบายหลายอย่าง ที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันแล้วว่า กรณีการจับพระยาละแวกมาตัดหัวแลัวเอาเลือดมาล้างเท้าพระนเรศวร ไม่เคยเกิดขึ้น”

     

    ตัวอย่างข้อความในเอกซ์เกี่ยวกับประเด็นเคลมวัฒนธรรม

     

    กัมพูชามองไทยอย่างไร

    ธิบดีตอบคำถามนี้โดยอ้างถึงงานวิจัยของ ดร.ใกล้รุ่ง อามระดิษ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ศึกษาเกี่ยวกับไทยในทัศนะกัมพูชา ซึ่งหลักฐานที่นำมาศึกษาคือหนังสือที่ชื่อว่า “คำสอนของตามาส” หรือ บ็อณฎำตาเมียะฮ์ (บณฺฎำตามาส-คำสั่งตาเมียะฮ์)

    หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และถูกแจกจ่ายเป็นจำนวนมากภายใต้การสนับสนุนของฝรั่งเศส เนื้อหาคือมุมมองและประสบการณ์ของตามาส ซึ่งเป็นชายแก่คนหนึ่งในสมัยสงครามอานามสยามยุทธ์ที่สยามและญวนยกทัพมาใช้กัมพูชาเป็นสนามประลองยุทธ์ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้บรรดาผู้คนในกัมพูชา

    ในหนังสือเล่มนี้ สยามถูกมองว่าเป็นพวกที่เข้ามากอบโกยหาผลประโยชน์ จนกระทั่งฝรั่งเศสเข้ามา ทำให้สยามไม่กล้าเข้ามารุกราน กัมพูชาจึงกลับสู่ความสงบและรุ่งเรือง กล่าวได้ว่าทัศนะที่กัมพูชามีต่อไทยส่วนหนึ่งสร้างขึ้นมาจากชาวฝรั่งเศส ฝรั่งเศสหยิบยกเอาเรื่องนี้มาขับเน้นและผลิตซ้ำ จนทําให้กลายเป็นภาพหนึ่งของความเข้าใจที่ชาวกัมพูชามีต่อไทย

    ปรากฏการณ์การเคลมสะท้อน ‘ชาตินิยมทางวัฒนธรรม’

    ธิบดีแสดงทัศนะว่าโดยส่วนตัวแล้วรู้สึกไม่ค่อยชอบการใช้คำว่า “เคลม” หรือการล้อเลียนแบบเหมารวมอย่างคำว่า “เคลมโบเดีย” ที่จะสื่อว่าชาวเขมรเป็นพวกชอบมาเคลมวัฒนธรรมไทยไปเป็นสมบัติของกัมพูชา เนื่องจากมรดกทางศิลปวัฒนธรรมไทยกับกัมพูชามีลักษณะผสมผสานและแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันมาตั้งแต่ก่อนเกิดรัฐชาติ ทว่าการเกิดขึ้นของรัฐชาติของกัมพูชาซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสที่มีส่วนสำคัญในการก่อร่างสร้างความเป็นชาติกัมพูชาขึ้นมา  ได้กลายมาเป็นจุดตัดสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกต่างอย่างชัดเจน และเมื่อมีการขีดเส้นแบ่ง การเคลมข้ามเส้นจึงเกิดขึ้น

    แต่ว่าเมื่อพูดถึงการเคลม หรือ การแย่งชิงสิ่งที่เรียกว่ามรดกทางวัฒนธรรมทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ หากมองให้ลึกลงไป เบื้องลึกของปรากฏการณ์นี้มี 2 เรื่องที่ทับซ้อนกันอยู่

    หนึ่ง คือ มิติทางประวัติศาสตร์ ในแง่ที่ว่าใครคือเจ้าของหรือเป็นคนสร้างสรรค์วัฒนธรรมนั้นขึ้นมา

    สอง คือ ความภาคภูมิใจในชาติว่ามรดกของชาติเราได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

    ส่วนเรื่องของระดับความรุนแรงของดรามานั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคน “รู้สึก” กับเรื่องนั้นๆ มากน้อยเพียงใด

    แม้แต่มีการเคลมวัฒนธรรมเกิดขึ้นจริง ก็ไม่ได้ทำให้วัฒนธรรมของเราหายไป ข้อกังวลที่พอฟังขึ้นอาจเป็น “ความรับรู้ของต่างชาติ” ต่อวัฒนธรรมไทยมากกว่า ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องของการจัดการ การประชาสัมพันธ์ ทำการตลาด สร้างแบรนด์ดิ้งกันไป

    ต่อมาในเรื่องของแนวคิดชาตินิยม ธิบดีอธิบายว่าสามารถแบ่งได้เป็นความชาตินิยมทางการเมือง และความชาตินิยมทางวัฒนธรรม ซึ่งประเด็นที่กำลังที่ชาวเน็ตไทยและกัมพูชาทะเลาะกันเป็นเรื่องของอย่างหลังเสียมากกว่า

    “พูดอย่างสั้นที่สุดก็คือว่า วัฒนธรรมสร้างชาติ แล้วชาติก็เคลมตัวเองว่าเป็นเจ้าของวัฒนธรรม ดังนั้น วัฒนธรรมคือส่วนหนึ่งของความเป็นชาติ”

    “อย่างไรก็ดี สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมนั้นสามารถเป็นส่วนหนึ่งของชาติอื่นได้ด้วย แต่เมื่อพูดถึง “ชาติ” มักมีนัยยะถึงการขีดเส้นแบ่งที่ชัดเจน ว่านี่คือประเทศ ก. และนี่คือประเทศ ข. ดังนั้นแล้วจึงเกิดความรู้สึกว่าไม่สามารถแชร์วัฒนธรรมเหล่านี้ด้วยกันได้ แม้ว่าวัฒนธรรมนั้นจะมีบางอย่างที่คล้ายคลึงกันก็ตาม”

     

    โพสต์ในโซเชียลที่มีข้อความเกี่ยวกับการเคลมวัฒนธรรม

     

    ตัวอย่างข้อความในเอกซ์เกี่ยวกับประเด็นเคลมวัฒนธรรม

    ชาตินิยมเขมร มรดกตกทอดยุคอาณานิคม

    “ชาตินิยมของกัมพูชามีแกนกลางอยู่บน ชุดความคิดและความเข้าใจทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ที่ฝรั่งเศสมีส่วนสําคัญในการสร้างขึ้น ในช่วงเวลาที่ฝรั่งเศสปกครองกัมพูชาในฐานะเจ้าอาณานิคมและกัมพูชาในฐานะที่เป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศส ในเวลานั้นสิ่งที่ฝรั่งเศสทำคือการสร้างวัฒนธรรมกัมพูชาขึ้นมา”

    ธิบดีขยายความว่าคำว่า “สร้าง” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการสร้างปราสาทหินขึ้นมาใหม่จากความว่างเปล่า แต่เป็นการสร้างเรื่องเล่าและความหมายใหม่ให้กับปราสาทหินซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีมาแต่เดิม

    “ก่อนที่ฝรั่งเศสจะเข้ามา ปราสาทมีความสําคัญต่อชาวเขมรในอีกแบบหนึ่ง ในแง่ที่ว่าบางส่วนถูกแปลงให้กลายเป็นวัดในพุทธศาสนา บางส่วนกลายเป็นที่อยู่ของผีปู่ย่าตายายและที่อยู่ของบรรดาอํานาจศักดิ์สิทธิ์ ในขณะที่ฝรั่งเศสมองสิ่งเดียวกันในแบบที่ต่างออกไป ว่านี่คือพยานยืนยันถึงความยิ่งใหญ่ในอดีต ของผู้คนที่เคยมีอํานาจปกครองกัมพูชา และพื้นที่ที่อยู่นอกกัมพูชา”

    “ชาติกัมพูชาที่ฝรั่งเศสสร้างขึ้นนั้นเคยเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ แผ่ขยายอำนาจออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่เฉพาะแต่กัมพูชาในปัจจุบันแต่ยังรวมไปถึงเวียดนาม ลาว เข้ามายังลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลงไปถึงคาบสมุทรทางใต้ และสิ่งสำคัญที่จะเป็นประจักษ์พยานถึงความยิ่งใหญ่คือ ปราสาทหินและสิ่งที่อยู่ ณ ปราสาทหินนั้นด้วย” ธิบดีกล่าว

    จุดเริ่มความหมั่นไส้ของคน 2 ชาติ

    ในมุมมองของธิบดี การกระทบกระทั่งกันระหว่างชาวไทยและชาวกัมพูชาในแบบที่แผ่ขยายวงออกไปนั้นอาจอธิบายได้ว่ามีประเด็นเขาพระวิหารเป็นจุดตัดสำคัญ เพราะก่อนที่จะมีกรณีเขาพระวิหาร เราจะเห็นการกระทบกระทั่งกันในระดับรัฐต่อรัฐเสียมากกว่า ซึ่งอาจกระทบต่อผู้คนตามแนวชายแดนเป็นส่วนใหญ่

    “หากย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1950 สิ่งที่เกิดขึ้นกับกัมพูชาก่อนหน้านั้นคือ กัมพูชากำลังต่อสู้เรียกร้องเอกราช ความสนใจของชนชั้นนำกัมพูชาจึงอยู่ที่ฝรั่งเศส ปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนบ้านจึงไม่ใช่เรื่องหลัก หลังจากนั้นปัญหาไทยกับกัมพูชาเริ่มชัดเจนขึ้นเมื่อการเมืองในกัมพูชาเริ่มนิ่ง

    กรณีของเขาพระวิหารนั้นเกิดประเด็นขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1950 มีการตัดสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับกัมพูชาถึง 2 ครั้ง (พ.ศ. 2501 และ 2504) ก่อนที่ศาลโลกจะตัดสินให้เขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา หลังจากเหตุการณ์นั้นเราจึงเริ่มเห็นการเข้ามามีส่วนร่วมของคน ดังจะเห็นได้จากการออกมาเดินขบวนเรียกร้องเขาพระวิหาร หรือการที่จอมพลสฤษดิ์ขึ้นปราศรัยผ่านวิทยุหลังจากที่รู้วาศาลโลกตัดสินว่าเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา”

    กัมพูชาชูประเด็นชาตินิยม หวังผลเลือกตั้ง?

    สำหรับฝั่งกัมพูชา หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าอาจมีการหยิบเอาประเด็นในทางวัฒนธรรมขึ้นมาใช้เป็นประเด็นทางการเมืองในช่วงก่อนการหาเสียงเลือกตั้งหรือไม่ เพื่อให้พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ได้รับชัยชนะ เช่น กรณีที่สื่อกัมพูชาเผยแพร่ข่าวอ้างว่า ‘กบ สุวนันท์’ ดาราไทยพูดว่ากัมพูชาขโมยนครวัดไปจากไทย จนนำมาซึ่งเหตุการณ์จลาจลเผาสถานทูตไทยในกัมพูชา ในปี พ.ศ. 2546 ซึ่งในปีเดียวกันนั้นก็มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชา

    ธิบดีให้ทัศนะไว้ว่าโดยทั่วๆ ไปแล้ว กระแสชาตินิยมอาจถูกจุดขึ้นมาโดยใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมือง กล่าวคือนักการเมืองอาจจะไม่ใช่คนจุดประเด็นโดยตรง แต่ก็อาจฉวยใช้กระแสดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ทางการเมือง

    เขากล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามในกรณีของกัมพูชา ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กันระหว่างผลเลือกตั้งกัมพูชาปี 2556 กับกระแสชาตินิยมที่ถูกปลุกขึ้นมาในช่วงก่อนหน้านั้น กล่าวคือ เมื่อปี 2554 มีเหตุปะทะกันระหว่างทหารกัมพูชาและทหารไทยที่ชายแดนไทย–กัมพูชาบริเวณปราสาทเขาพระวิหารตลอดจนพื้นที่ใกล้เคียง ผ่านไป 2 ปีก็มีการเลือกตั้ง ปรากฏว่าพรรคประชาชนกัมพูชาได้คะแนนเสียงลดลง เราจึงไม่สามารถฟันธงได้ว่าพรรคประชาชนกัมพูชาได้ประโยชน์จากกระแสชาตินิยมหรือไม่

    ข้ามพ้นชาตินิยม เป็นไปได้ไหม?

    ธิบดีกล่าวว่าการปะทะกันในโซเชียลชาวเน็ตไทยและกัมพูชาดูจะเป็นเรื่องปกติธรรมดา ต่างฝ่ายต่างมอง มีความเชื่อกันคนละแบบ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องวัฒนธรรม ตั้งแต่เรื่องกุนขแมร์ โขน และเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้านั้น ซึ่งอาจไม่ได้สร้างความเสียหายในระดับที่น่ากังวลขนาดนั้น

    แต่กระแสชาตินิยมจะนับว่าอันตรายเมื่อมีการหยิบฉวยไปใช้เป็นประเด็นทางการเมือง แต่อย่างดรามาเกาะกูดที่เป็นกระแสตั้งแต่ต้นเดือน ณ ขณะนี้ตนมองว่ายังไม่ได้น่ากังวลมากนัก แต่ถ้าในอนาคตมีการนำเรื่องนี้มาร้องเรียนกลั่นแกล้งกันทางกฎหมายจนส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ถ้าไปถึงจุดนั้นแหละจึงจะน่ากลัว

    ส่วนประเด็นที่ว่าไทยกับกัมพูชาจะเลิกเขม่นกันได้ไหม ธิบดีกล่าวว่าสำหรับคนทั่วไปที่มีความเชื่อแบบใดแบบหนึ่งไปแล้ว การสลายอคติที่มีก็อาจจะเป็นเรื่องยาก ฉะนั้นการจะไปถึงจุดที่ไม่กระทบกระทั่งกันเลยคงเป็นไปไม่ได้ หมายถึงว่าการถกเถียงกันในโซเชียลมีเดียก็ยังควรมี แต่ต้องยอมรับว่าบางแพลตฟอร์มนั้นอาจไม่เหมาะสำหรับการถกเถียง

    ทั้งนี้ ไทยกับกัมพูชามีจุดร่วมที่สามารถพัฒนาร่วมกัน เรายังคงต้องทำมาค้าขายกัน ในแง่ของการค้า ไทยส่งออกไปกัมพูชามากกว่านำเข้า ส่วนในด้านแรงงาน ไทยเองก็ต้องพึ่งพาคนงานกัมพูชาเป็นจำนวนมาก นี่คือจุดที่เราจะต้องอยู่ร่วมกันให้ได้

     

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธิบดี บัวคำศรี

    ติดตาม "ประชาไท Prachatai.com" ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้า https://prachataistore.net
  4. ทำไมสหรัฐฯ กำหนดนโยบายช่วยอิสราเอล? | หมายเหตุประเพทไทย EP.548

    Sun, 10 Nov 2024 12:06:10 -0000

    ทำไมสหรัฐฯ กำหนดนโยบายช่วยอิสราเอล? | หมายเหตุประเพทไทย EP.548 user8

    หลังทราบผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่โดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาทวงตำแหน่งได้อีกครั้ง ทำให้หลายฝ่ายจับตาทิศทางนโยบายต่างประเทศ รวมทั้งนโยบายต่ออิสราเอลและตะวันออกกลาง หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ และภาวิน มาลัยวงศ์ พูดถึงที่มาว่าเหตุใดอิสราเอลจึงกลายเป็นสินทรัพย์เชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Asset) ของนโยบายและการใช้งบประมาณของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเพื่อช่วยเหลือด้านความมั่นคงมาอย่างยาวนาน และนโยบายเกี่ยวกับอิสราเอล กลับมามีผลต่อฐานเสียงในการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาอย่างไร ติดตามได้ในรายการ #หมายเหตุประเพทไทย #เลือกตั้งสหรัฐอเมริกา #อิสราเอล

    เรื่องที่เกี่ยวข้อง

     

    ติดตาม "ประชาไท Prachatai.com" ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้า https://prachataistore.net
  5. จับตาเลือกตั้งสหรัฐ 2024 | หมายเหตุประเพทไทย EP.547

    Sun, 03 Nov 2024 12:02:26 -0000

    จับตาเลือกตั้งสหรัฐ 2024 | หมายเหตุประเพทไทย EP.547 user8

    หมายเหตุประเพทไทยจับตาเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 5 พ.ย. นี้ ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ และต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี ชวนคุยในประเด็นการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา ข้อมูลพื้นฐานที่คนไทยควรรู้ ระบบเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่กติกาเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางอ้อม รวมทั้งทิศทางนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในห้วงที่สาธารณรัฐประชาชนจีนก็ทวีความสำคัญในเวทีโลกเช่นกัน

    ติดตาม "ประชาไท Prachatai.com" ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้า https://prachataistore.net
  6. 'บุ้ง เนติพร' ความตายของกระบวนการยุติธรรม?

    Fri, 01 Nov 2024 12:01:42 -0000

    'บุ้ง เนติพร' ความตายของกระบวนการยุติธรรม? user8

    บุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม ถูกฟ้อง ม.112 จากการร่วมสังเกตการณ์การทำโพลเกี่ยวกับขบวนเสด็จ และได้ประกันตัวด้วยเงื่อนไขที่คลุมเครือ จากนั้นก็ถูกถอนประกันจากการกระทำต่างกรรมต่างวาระ ซึ่งนักกฎหมายวิจารณ์ว่าเป็นการลงโทษซ้ำซ้อน เหล่านี้คือสิ่งที่ 'บุ้ง เนติพร' หรือ 'บุ้ง ทะลุวัง' ต้องพบตลอดการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมจากการทำกิจกรรมเรียกร้องทางการเมือง เพื่อเป้าหมายในการปฏิรูปสถาบันฯ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และยุติการดำเนินคดีผู้เห็นต่าง

    ผ่านมาแล้วเกือบครึ่งปีที่บุ้งเสียชีวิตหลังจากอดอาหารเป็นเวลานาน จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อ 14 พ.ค. 2567  ทว่าความชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดการเสียชีวิตยังคงล่าช้าและไม่กระจ่าง ทำให้คำถามพุ่งตรงสู่มาตรฐานการดูแลของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ รวมถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด

    ประชาไทชวนรับชมสารคดี 'บุ้ง เนติพร' ความตายของกระบวนการยุติธรรม? เพื่อย้อนพินิจความผิดปกติในการดำเนินคดี ม.112 ต่อนักกิจกรรมรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวด้วยสไตล์ที่สังคมไทยอาจไม่คุ้นชิน และต้องสูญหายไประหว่างเส้นทางการต่อสู้

    #บุ้งทะลุวัง #บุ้งเนติพร #ทะลุวัง #ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

    ติดตาม "ประชาไท Prachatai.com" ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้า https://prachataistore.net
  7. เปิดใจ ‘นักศึกษาพม่า’ ในไทย ธุรกิจการศึกษาบูม หลังพม่าบังคับเกณฑ์ทหาร

    Thu, 31 Oct 2024 13:18:06 -0000

    เปิดใจ ‘นักศึกษาพม่า’ ในไทย ธุรกิจการศึกษาบูม หลังพม่าบังคับเกณฑ์ทหาร See Think

    สำรวจแนวโน้มการอพยพของชนชั้นกลางพม่า เจาะลึกชีวิต ‘นักศึกษาพม่า’ ที่เข้ามาเรียนต่อไทยจำนวนมาก หลังจากที่พม่าบังคับเกณฑ์ทหาร ดูเหมือนไทยจะกลายเป็นทางผ่านด้านการศึกษาของหนุ่มสาวพม่าจำนวนมาก ก่อนจะเดินทางไปยังประเทศที่ 3 

    เฟรชชี่จากรัฐฉาน

    นักศึกษาชาติพันธุ์ไทใหญ่ ชั้นปีที่ 1 จากมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ให้สัมภาษณ์กับประชาไท เธอขอใช้นามแฝงว่า หลาว (Lao) ที่แปลว่า ดาว ในภาษาไทใหญ่

    หลาว วัย 20 ปี เรียนสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วิทยาลัยนานาชาติ เพิ่งมาถึงเมืองไทยเมื่อไม่นาน หลังจากที่รัฐบาลพม่าประกาศใช้กฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารพลเรือน ท่ามกลางความระส่ำระสายทางการเมือง

    กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ผู้ชายที่อายุตั้งแต่ 18-35 ปี และผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 18-27 ปี ต้องรับใช้กองทัพเป็นเวลา 2 ปี

    “ตอนที่ฉันมาไทยถือว่าง่ายและราบรื่น มหาวิทยาลัยช่วยจัดหาเอกสารทุกอย่างสำหรับขอวีซ่านักศึกษา มันจึงไม่ยากสำหรับฉัน แต่ว่าสำหรับเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยอื่นหรือคนที่ไปเรียนต่อประเทศอื่น สำหรับพวกเขาขั้นตอนมันยุ่งยากมาก”

    เธอเป็นหนึ่งในผู้หญิงจำนวนน้อย อีกทั้งยังเป็นคนเดียวในรุ่นที่มีพื้นเพจากเมืองแสนหวี ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ท่ามกลางอีก 90% ของเพื่อนในรุ่นที่มาจากพม่าเหมือนกัน ส่วนมากเป็นเพศชายและมาจากนครย่างกุ้ง บ้างจบปริญญาตรีสาขาอื่นมาแล้ว แต่ก็ใช้สถานะนักเรียนเป็นใบเบิกทางย้ายประเทศ

    เรื่องที่เกี่ยวข้อง

    แรกเริ่มหลาวสมัครไปถึง 3 มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ แต่ลงเอยที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้เพราะมหาวิทยาลัยมอบทุนให้ครอบคลุมค่าเล่าเรียน 50% จนจบสี่ปีการศึกษา ท่ามกลางนักเรียนส่วนใหญ่ที่ครอบครัวจ่ายได้ทั้งหมด

    อย่างไรก็ตาม ค่าเทอมส่วนที่เหลือและค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนก็ยังมากเกินไป หลาวผู้ใช้ภาษาอังกฤษ ไทใหญ่ และพม่าได้คล่องแคล่ว จึงแอบรับงานพาร์ทไทม์เป็นล่ามและแปลเอกสาร แม้เงื่อนไขของวีซ่านักเรียนต่างชาติจะไม่อนุญาตให้ทำงานพาร์ทไทม์

    ย้อนไปก่อนที่จะมีเหตุการณ์รัฐประหารพม่าในปี 2564 หลาวมีชีวิตวัยรุ่นตามปกติ เธอฝันอยากเป็นหมอ เนื่องจากเห็นความสูญเสียจากเหตุการณ์สู้รบในรัฐฉานจึงอยากช่วยเหลือคนบวกกับความหวังว่าเงินเดือนของหมอจะช่วยยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวได้ อาจพูดได้ว่าหากไม่มีการรัฐประหาร เธอคงกำลังเรียนคณะแพทย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ

    ความไม่สงบทางการเมืองหลังรัฐประหารทำให้หลาวไม่อยากเรียนต่อในมหาวิทยาลัยของรัฐ เธอตกอยู่ในสภาวะเคว้งๆ หมดหนทางอยู่พักหนึ่งก่อนทิ้งความฝันเดิมแล้วมุ่งมั่นเรียนเตรียมสอบ GED หรือ General Educational Development การสอบเทียบวุฒิ ม.ปลาย (ม.6) ในระบบอเมริกัน เพื่อใช้ยื่นเข้าเรียนต่อปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ

    “ในอนาคตฉันอยากใช้เทคโนโลยีเพื่อสืบทอดภาษาไทใหญ่ ซึ่งเป็นมรดกของชุมชนของเราเอาไว้”

    หลาวเรียนเตรียมสอบกับองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อสิทธิด้านการศึกษาของชาวไทใหญ่ และได้ทำงานเป็นครูอาสาสมัครที่นั่น 2 ปี ก่อนจะย้ายมาเมืองไทย ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนยังอยู่กับเธอแม้ในวันที่ต้องไกลบ้านแบบนี้ เธอกล่าวถึงเป้าหมายพร้อมบอกด้วยว่าหลังเรียนจบจะหางานและพาตัวเองไปประเทศที่สามให้ได้

     

    หลาวในชุดนักศึกษา

    ปลอดภัย-ได้เรียนเต็มที่

    “ฉันสังเกตว่าการเรียนที่ไทยจะมีภาคปฏิบัติมากกว่า ถ้าเทียบกับในพม่าที่เรามักได้เรียนภาคทฤษฎีเป็นส่วนมาก ที่ไทยก็ยังให้การสนับสนุนนักศึกษาต่างชาติมากๆ ด้วย มันทำให้ฉันปรับตัวง่ายขึ้น”

    ตุลา* นักศึกษาปีที่ 2 สาขาเคมีประยุกต์ จากมหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงราย และผู้มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่าการย้ายมาที่นี่ทำให้รู้สึกมั่นคงปลอดภัยมากขึ้น โฟกัสกับการเรียนได้เต็มที่ แตกต่างจากบรรยากาศในพม่าอย่างสิ้นเชิง

    เช่นเดียวกันกับหลาว ตุลาได้รับทุนค่าเล่าเรียนจากมหาวิทยาลัย ต่างไปตรงที่ตุลาต้องเก็บชั่วโมงฝึกงานเป็นบาริสต้าในมหาวิทยาลัยตามเงื่อนไขของทุน โดยบางเดือนอาจได้ค่าตอบแทนเล็กน้อยราว 500-800 บาท ในส่วนค่าครองชีพยังต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากครอบครัว

    ตุลาสะท้อนว่าอุปสรรคใหญ่ที่สุดของนักศึกษาจากพม่า คือความยุ่งยากในการทำเอกสารและวีซ่า บ่อยครั้งที่กระบวนการติดขัดจนล่าช้า อย่างไรก็ตาม เพื่อนๆ จากพม่าต่างเข้าใจและช่วยเหลือกันเป็นอย่างดี

     

    ตุลาในชุดฝึกงานบาริสต้า

    เริ่มเรียนใหม่หลังรัฐประหารทำสะดุด

    “ฉันรีบเตรียมเอกสารแบบฉุกละหุก เพราะกว่าจะเห็นประกาศรับสมัครทุนก็เหลือเวลาแค่เดือนเดียว ตอนนั้นสมัครแค่มหาวิทยาลัยนี้ที่เดียว แล้วก็ได้เลย จริงๆ ตอนแรกฉันสนใจไปอเมริกาด้วย แต่ว่าการขอวีซ่านั้นยากมากจริงๆ และมันก็ไกลจากบ้านเกินไป ถ้าเทียบกับเมืองไทยที่ฉันสามารถเจอพ่อกับแม่ได้ง่ายๆ เมื่อคิดถึงบ้าน”

    เมย์* นักศึกษาปีสุดท้ายจากสาขาธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยเอกชนในจังหวัดปทุมธานี เล่าย้อนถึงช่วงที่สมัครเรียนต่อ เธอจะเรียนจบในอีก 6 เดือนข้างหน้าและกำลังมองหางานด้านธุรกิจและการตลาดออนไลน์

     

    เมย์ 

    เธอเป็นหนึ่งในนักเรียนทุนเพียงไม่กี่คนในรุ่น โดยได้ทุนค่าเล่าเรียน 50% จากมหาวิทยาลัยจนจบการศึกษา ครอบครัวของเมย์สามารถจ่ายส่วนที่เหลือรวมถึงค่าครองชีพ เมย์จึงสามารถทุ่มเวลาทั้งหมดไปกับการเรียนและกิจกรรม

    กิจกรรมของเมย์แบ่งได้เป็น 2 ประเภท อย่างแรกคือ การเป็นสต๊าฟในอีเวนต์ของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของทุน อย่างที่สองคือ การเข้าร่วมแข่งขันด้านธุรกิจและค่ายเยาวชน ซึ่งอย่างหลังนี้เธอหวังว่ามันอาจช่วยให้เธอได้งานดีๆ ในอนาคต

    “ตอนนี้สถานการณ์ในพม่าเข้าแย่ลงกว่าเดิม ถ้าเรากลับไปที่นั่น ฉันไม่แน่ใจว่าเราจะออกมาอีกได้หรือเปล่า”

    ชีวิตมหาวิทยาลัยของเมย์ไม่ได้เริ่มที่นี่เป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้เธอเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 เอกภาษาไทย มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศ ย่างกุ้ง (Yangon University Of Foreign Languages) ทว่าเกิดการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้มหาวิทยาลัยจำต้องหยุดการเรียนการสอน หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์รัฐประหารตามมา

    เช่นเดียวกับวัยรุ่นจำนวนมาก เธอลงถนนประท้วงและร่วมแคมเปญรณรงค์ทางออนไลน์อยู่หลายเดือน ต่อมามหาวิทยาลัยกลับมาเปิดอีกครั้ง ทว่าเมย์ตัดสินใจไม่เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเดิมอีกต่อไป เนื่องจากอาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งได้ลาออกไปร่วมกับกลุ่มต่อต้าน ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร รวมถึงความรู้สึกผิดต่อเพื่อนในวัยเดียวกันที่ต้องหลุดจากระบบการศึกษาทำให้เมย์มองหาทางเรียนต่อต่างประเทศ

    พื้นเพของเมย์เป็นชาวไทใหญ่-พม่าจากนครย่างกุ้ง พ่อทำงานเป็นวิศวกรในบริษัทเอกชน ส่วนแม่เป็นแม่บ้าน เธอบอกด้วยว่าถ้าสุดท้ายหางานไม่ได้ในเมืองไทยก็จะย้ายไปประเทศที่สาม

    กลับไม่ได้ หางานก็ไม่ง่าย

    การเดินทางกลับประเทศยิ่งเป็นเรื่องเสี่ยงอันตรายสำหรับนักศึกษาที่มีพื้นเพเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง พวกเขามีแนวโน้มกระจุกตัวตามคณะสายสังคมศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยทางภาคเหนือของไทย 

    “ผมมาที่นี่ในปี 2566 ตอนแรกคิดว่าเรียนจบแล้วก็จะกลับบ้าน เพราะว่าตอนนั้นกองทัพพม่ายังไม่ได้นำกฎหมายเกณฑ์ทหารกลับมาใช้ แต่หลังจากที่ปีนี้ มีการประกาศใช้กฎหมายเกณฑ์ทหาร ตอนนั้นแหละผมคิดจะอยู่ต่อเมืองไทย เพราะผมกลับไปไม่ได้แล้ว”

    คำบอกเล่าจาก โม* วัยยี่สิบปลายผู้เคยเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง เขากำลังเรียนปริญญาโท หลักสูตรระยะสั้น ด้านนโยบายสาธารณะ

     โม

    ตัวเขาเก็บหน่วยกิตครบแล้ว แต่เลือกที่จะยืดระยะเวลาจบการศึกษาออกไปตราบเท่าที่เกณฑ์มหาวิทยาลัยกำหนด นี่เป็นวิธีที่นักศึกษาจากพม่าจำนวนหนึ่งต้องทำ เพราะต้องการคงสถานะนักศึกษาเพื่ออยู่อาศัยและหางานทำ ขณะนี้โมยังคงหางานไม่ได้ ยังต้องพึ่งพาเงินที่ครอบครัวส่งมาให้ทุกเดือนราวๆ 10,000 บาท

    ย้อนไปสมัยเรียนมหาวิทยาลัย โมมีบทบาทเป็นประธานสหภาพนักศึกษา หลังเรียนจบจากสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยดะโก่ง เขาได้ทำงานด้านการพัฒนาชนบทในองค์การระหว่างประเทศเป็นเวลา 3 ปี ประสบการณ์ในสายงานกลายมาเป็นใบเบิกทางให้ได้ทุนค่าเล่าเรียนเต็มจำนวน หากปราศจากทุนการศึกษา เขาก็คงออกมาได้ยาก

    “ช่วงหลังรัฐประหาร ตอนนั้นสถานการณ์มันแย่แบบที่ผมไม่รู้จะอธิบายด้วยคำไหน การมีชีวิตอยู่แต่ว่าไม่มีความหวังก็เหมือนกับตายทั้งเป็น คนหนุ่มสาวเริ่มรู้สึกว่าทำไมเราต้องมาเสียเวลาอยู่ในประเทศแบบนี้ จะเป็นยังไงถ้าเราหาทางไปต่างประเทศและเริ่มชีวิตใหม่อีกครั้ง”

    แม้โมจะเป็นนักเรียนหัวกะทิพร้อมประสบการณ์ทำงาน แต่การหางานสายเดิมในไทยก็นับเป็นเรื่องยาก เขาพบว่ากำแพงภาษายังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ บางองค์กรระหว่างประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ยังคงกำหนดให้แคนดิเดตต้องใช้ภาษาไทยได้ด้วย เกณฑ์ข้อนี้ก็ทำเขาตกม้าตาย อีกทั้งยังต้องแข่งขันกับชาวต่างชาติคนอื่น โดยเฉพาะนักศึกษาจากพม่าที่ก็อยู่ในภาวะดิ้นรนเอาตัวรอดไม่ต่างกัน

    เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยประกาศขยายเวลาพำนักในประเทศไทยให้นักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนระดับปริญญาตรีขึ้นไป ที่ได้รับการตรวจลงตรา Non-Immigrant Visa รหัส ED หลังสำเร็จการศึกษา 1 ปี เพื่อหางาน เดินทางท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ในประเทศไทยได้

    แนวโน้มการอพยพ

    พิมพ์ ไชยสาส์น เลขานุการเอก ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ให้สัมภาษณ์กับประชาไทถึงความท้าทายในการทำงานตรวจลงตรา ระบุว่า นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมาที่ทางการพม่านำกฎหมายเกณฑ์ทหารกลับมาบังคับใช้ คนหนุ่มสาวหลั่งไหลขอวีซ่าเข้าไทยมากเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ สถิติการตรวจลงตรานักเดินทางชาวพม่าทุกประเภท พุ่งขึ้นไปถึงวันละ 800 คน ซึ่งเต็มกำลังของสถานเอกอัครราชทูตแล้ว จากเดิมที่การตรวจลงตราจะมีประมาณวันละ 200 คน โดยพีคที่สุดแค่ช่วงเปิดเทอม

     

    คนหนุ่มสาวแห่ขอวีซ่าเข้าไทย หลังรัฐบาลประกาศกฎหมายเกณฑ์บังคับทหารพลเรือน 

    ภาพจาก เฟซบุ๊กกัณวีร์ สืบแสง

    พิมพ์อธิบายภาพรวมของนักศึกษากลุ่มนี้ว่านับเป็นชนชั้นกลางค่อนบน จากหัวเมืองใหญ่ๆ อาทิ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ เป็นต้น กระทั่งกลุ่มที่ได้ทุนจากมหาวิทยาลัยไทยก็ยังต้องมีฐานะประมาณหนึ่ง

    กลุ่มแรกนักศึกษาส่วนใหญ่มักเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งการแข่งขันสอบเข้าไม่ได้สูงมากเทียบเท่ามหาวิทยาลัยของรัฐ ส่วนอีกกลุ่มที่มีงบจำกัดลงมา อาจเลือกเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนตามแนวชายแดน หรือเลือกเรียนหลักสูตรระยะสั้น เช่น คอร์สภาษาไทยและอังกฤษ ด้วยเหตุผลเรื่องที่พักอาศัยหรือมีญาติพี่น้องอยู่บริเวณนั้น ส่วนชนชั้นนำอาจส่งลูกไปเรียนได้ไกลถึงประเทศตะวันตก

    อีกหนึ่งอย่างที่สะท้อนให้เห็นความต้องการเรียนต่อไทยที่เพิ่มมากขึ้นก็คือ ผลตอบรับจากงาน Thailand Education Fair (Myanmar) เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานมากถึง 3,600 คน

    ในงานมีการออกบูธของสถาบันการศึกษาหลายสิบแห่ง แนะนำหลักสูตรและขั้นตอนการสมัคร ตลอดจนทุนการศึกษาต่างๆ โดยเป็นโครงการความร่วมมือของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศกับสมาคมศิษย์เก่าพม่าที่จบจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย (Association of Myanmar Alumni from Universities in Thailand - AMAUT)

    ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ จะมีการจัดงาน Thailand Education Fair (Myanmar) ครั้งที่ 8 จากผลตอบรับของงานครั้งที่แล้วค่อนข้างจะพลุแตก ครั้งนี้จึงขยายระยะเวลางานเป็น 2 วัน โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมาณ 5,000-7,000 คน

    พิมพ์กล่าวด้วยว่า แม้จะมีเทรนด์อพยพของกลุ่มนักศึกษาเพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขในอนาคตก็อาจไม่ได้เปลี่ยนไปจากที่เป็นอยู่ เนื่องจากสัดส่วนชนชั้นกลางค่อนบนไม่ได้ใหญ่มากนัก รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำทางสังคม

     

    นักเรียนและผู้ปกครองเข้าร่วมงาน Thailand Education Fair (Myanmar) ครั้งที่ 7 เมื่อเดือนเมษายน 2567

    ภาพจากสมาคมศิษย์เก่าพม่าที่จบจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย

    พม่าพยายามดึงคนกลับไปเกณฑ์ทหาร ?

    เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลทหารพม่าประกาศว่า สถานเอกอัครราชทูตพม่าประจำกรุงเทพมหานคร หรือ กงสุลพม่าในจังหวัดเชียงใหม่ จะไม่ต่อหนังสือเดินทางให้นักศึกษาพม่าที่กำลังศึกษาอยู่ในประเทศไทยด้วยวีซ่านักเรียนระยะสั้น โดยนักศึกษากลุ่มนี้ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อต่อหนังสือเดินทางฉบับใหม่เท่านั้น

    หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ามาตรการดังกล่าวเป็นความพยายามของรัฐบาลทหารพม่าในการให้คนรุ่นใหม่กลับประเทศเพื่อเรียกตัวเข้าเกณฑ์ทหารหรือไม่

    แม้ว่าจะยังไม่มีรายงานถึงผลกระทบจากมาตรการนี้ แต่นักศึกษากลุ่มที่ประชาไทได้พูดคุยล้วนรู้สึกกังวลใจกับสถานะการอยู่อาศัยของพวกเขาในอนาคตอันใกล้

    เรื่องที่เกี่ยวข้อง

    บทความนี้ได้รับการสนับสนุนโดย IOM ผ่านโครงการทุนเพื่อการรายงานข่าวเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐาน

    ติดตาม "ประชาไท Prachatai.com" ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้า https://prachataistore.net
  8. ต่อชีวิต 'กองทุนประกันสังคม' เปิด 4 มาตรการกันล้มละลายในอีก 30 ปี

    Tue, 29 Oct 2024 06:14:33 -0000

    ต่อชีวิต 'กองทุนประกันสังคม' เปิด 4 มาตรการกันล้มละลายในอีก 30 ปี XmasUser

    สถานการณ์กองทุนประกันสังคม ณ วันที่ 30 ก.ย. 2567 มีเงินทุนสะสมอยู่ที่ 2,586,369 ล้านบาท ถือเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีสมาชิกอยู่ในกองทุนประกันสังคมประมาณ 24.84 ล้านคน  

    องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คาดการณ์ว่า ในปี 2585 (หรืออีก 18 ปีข้างหน้า) เงินทุนสะสมจะถึงจุดสูงสุดแตะที่ 6.02 ล้านล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการปฏิรูป หรือเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายหาเงินเข้ากองทุนฯ ในอีก 30 ปีข้างหน้า (ปี 2597) เงินสำรองของกองทุนฯ จะหมดลง หรือ "ล้มละลาย" เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้กำลังแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคมน้อยลง ขณะเดียวกัน เมื่อสมาชิกกองทุนฯ เกษียณอายุการทำงาน กองทุนฯ จะ "ต้อง" จ่ายบำนาญให้กับสมาชิก

    ดังนั้น กระทรวงแรงงานจะมีมาตรการอย่างไรในการป้องกันไม่ให้กองทุนประกันสังคมล้มละลายในอีก 30 ปีข้างหน้า มาหาคำตอบได้ในงานชิ้นนี้

    "แรงงานไทย" กำลังจะหายไป

    เมื่อปี 2566 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ 'สังคมสูงอายุสมบูรณ์' (Aged Society) เนื่องจากมีจำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือมีจำนวน 14.03 ล้านคน และในปี 2576 คาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยระดับสุดยอด เนื่องจากมีประชากรอายุเกิน 60 ปี คิดเป็น 28% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากไทยมีอัตราการเกิดที่ต่ำมาก

    แนวโน้มประชากรในประเทศไทย (ที่มา: สำนักงานประกันสังคม)

    ข้อมูลจากสหประชาชาติที่ประเมินประชากรทั่วโลก ระบุว่า ประเทศไทยจะสูญเสียประชากรจากอัตราการเกิดที่น้อยลงถึง 34% หรือหายไปมากถึง 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในปี พ.ศ. 2643 เป็นอันดับ 2 ของโลกเป็นรองเพียงประเทศญี่ปุ่น

    ขณะที่การคาดการณ์ของ ดร.เกื้อ วงค์บุญสิน และ ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ เมื่อปี 2566 เผยว่าประเทศไทยปัจจุบันมีค่า TFR หรืออัตราการเจริญพันธ์รวมที่ 1.16 เมื่อนำค่าดังกล่าวไปทำการประมาณการ พบว่าประชากรไทยจะลดลงครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 33 ล้านคนในอีก 60 ปี (พ.ศ. 2627) ขณะที่กำลังแรงงานของประเทศไทยจะลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือเพียง 14 ล้านคนเท่านั้น

    อนึ่ง อัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate : TFR) หมายถึง จำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่ สตรีวัยเจริญพันธุ์คนหนึ่ง หรือ 1,000 คน จะมีได้ตลอดวัยเจริญพันธุ์ (หญิงอายุ 15-49 ปี)

    กระทรวงแรงงานเตรียมมาตรการอะไรบ้าง เพื่อไม่ให้กองทุนฯ ล้มละลาย

    เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถึงแผนออกนโยบายดึงเงินต่ออายุกองทุนประกันสังคม

    มาตรการแรกคือ การปรับยุทธศาสตร์สัดส่วนการลงทุนของกองทุนประกันสังคม จากเดิมอัตราผลตอบแทนการลงทุนอยู่ที่ 2.5% ในปี 2567 แต่เป้าหมายต่อไปของการปรับสัดส่วนการลงทุนยุทธศาสตร์ ฉบับที่ 5 ระยะที่ 1 (ปี 2567-2570) ต้องเพิ่มอัตราผลตอบแทนการลงทุนประมาณ 5%  

    ส่วนจะทำอย่างไรนั้น พิพัฒน์ ระบุว่าจะมีการปรับสัดส่วนการลงทุนยุทธศาสตร์ (SAA) จากเดิมกองทุนฯ จะลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยง ยกตัวอย่าง การซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือฝากธนาคารของรัฐ จะไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อย เรตติ้งขั้นต่ำ “BBB” ขึ้นไป แต่จะให้อัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น

    ตอนนี้ (ก.ย. 2567) อัตราการลงทุนสินทรัพย์มั่นคง (Risk-free Asset) ต่อสินทรัพย์เสี่ยงน้อย (Risky Asset) อยู่ที่ 70.69% ต่อ 29.31% แต่ในปี 2569 จะปรับสัดส่วนการลงทุนเป็น 65% ต่อ 35%

    สัดส่วนการลงทุนสินทรัพย์ ประจำเดือน ก.ย. 2567 (ที่มา: เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม)

    นอกจากนี้ จะมีการปรับกลยุทธ์ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงของต่างประเทศที่ให้ดอกผลที่สูงขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มไปลงทุนในอเมริกา หรือยุโรปแล้ว และคาดว่าจะได้ดอกผลเพิ่มขึ้นในปี 2568 อยู่ที่ 5.2%

    ทั้งนี้ สัดส่วนการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงในประเทศ (Domestic Asset) ต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่างประเทศ (Foreign Asset) จากเดิมในปี 2567 ที่ 68.85% ต่อ 31.15% แต่เป้าหมายปี 2569 จะปรับเป็น 53% ต่อ 47%

    อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานมองว่าเป็นเรื่องที่ยากที่จะบรรลุเป้าหมายผลตอบแทนที่ 5% ภายในปี 2568 เพราะต้องเผชิญความผันผวนทางการเงิน ภาวะเศรษฐกิจที่สืบเนื่องจากภูมิรัฐศาสตร์ การเลือกตั้งสหรัฐฯ และบริบทการเมืองโลกอื่นๆ

    เป้าหมายการจัดสรรการลงทุนสินทรัพย์ของสำนักงานประกันสังคม (ที่มา: สำนักงานประกันสังคม)

    ขยายอายุเกษียณ-เพิ่มอัตราเงินสมทบ

    สำหรับมาตรการอื่นๆ กระทรวงแรงงานได้วางแผนขยายเวลาการเกษียณอายุจากเดิม 55 ปี เป็น 65 ปี อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยปรับเกณฑ์อายุขึ้นปีละ 1 ปี หรือ แก้ พ.ร.บ.ปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมสัดส่วนฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายรัฐ

    อย่างไรก็ตาม สหัสวัต คุ้มคง สส. ชลบุรี พรรคประชาชน เคยอภิปรายในการประชุมรัฐสภา วันแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เผยว่า ปัจจุบัน รัฐบาลติดหนี้ค้างจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคม จำนวน 66,900 ล้านบาท และค้างจ่ายดอกเบี้ย 5% อีก 3,345 ล้านบาท โดย สส.พรรคประชาชน เรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายในส่วนดอกเบี้ยให้กองทุนประกันสังคมภายในปี 2569 เพื่อนำมาทำสิทธิประโยชน์ให้สมาชิก

    ประสิทธิภาพของมาตรการ

    ข้อมูลพยากรณ์จาก ILO เผยว่า ถ้าเทียบกัน 3 มาตรการ ได้แก่ การขยายอายุเกษียณ ปรับเพิ่มผลตอบแทนการลงทุน และเพิ่มเงินสัดส่วนเงินสมทบทุน พบว่ามาตรการเพิ่มเงินสมทบทุนจะสามารถขยายอายุกองทุนประกันสังคมได้มากที่สุดถึง 16 ปี รองลงมา เป็นการเพิ่มผลตอบแทนการลงทุน (ไม่ต่ำกว่า 5.2%) จะยืดอายุกองทุนได้เพียง 4 ปี และมาตรการขยายอายุเกษียณอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนถึง 65 ปี จะยืดอายุกองทุนได้แค่ 3 ปีเท่านั้น (ดูภาพ)

    ภาพจากทีมลงทุนประกันสังคม เปรียบเทียบ 3 มาตรการ (ซ้าย-ขวา) นโยบายขยายอายุเกษียณ เพิ่มอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนสินทรัพย์ และขยายอัตราเงินสมทบกองทุนฯ

    ดึงแรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติเข้าระบบประกันสังคม ม.33 ทั้งหมด

    นอกจากมาตรการข้างต้น กระทรวงแรงงาน ได้หารือเตรียมมาตรการดึงแรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติ เข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ทุกคน เพื่อเพิ่มเงินในกองทุนประกันสังคม ลดภาระค่าใช้จ่ายของกระทรวงสาธารณสุข และให้แรงงาน 4 สัญชาติมา ‘จ่ายภาษีให้ประเทศไทย’

    ปัจจุบัน มีแรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติ (เวียดนาม พม่า ลาว และกัมพูชา) อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 เพียง 1.5 ล้านคน แต่มีแรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติ ลงทะเบียนกับกรมจัดหางาน 3 ล้านคน ดังนั้น โจทย์คือทำยังไงที่จะดึงแรงงาน 4 สัญชาติที่เหลือเข้ามาอยู่ในระบบประสังคมให้ได้

    นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่าแรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติอาจมีจำนวนมากกว่าจำนวนที่ลงทะเบียนกับกรมจัดหางานอีกด้วย แผนของพิพัฒน์คือเตรียมที่จะให้แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายมาขึ้นทะเบียนอยู่ในระบบประกันสังคม และจะสร้างแรงจูงใจคือ คนที่เข้าในระบบประกันสังคม จะได้ทำบัตรสีชมพูของกระทรวงมหาดไทยไปด้วยในตัว

    “เราเตรียมแรงงานข้ามชาติที่อยู่ใต้ดินเข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมทั้งหมด และจะมีการประกาศให้มาขึ้นทะเบียนใหม่ แต่เมื่อปิดการขึ้นทะเบียนแล้ว กระทรวงแรงงานถือว่าให้โอกาสแล้ว ถ้ายังไม่มาขึ้นทะเบียน จะมีการปราบปรามแรงงานผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด” พิพัฒน์ กล่าว

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า กระทรวงแรงงานมีแผนเตรียมยกเลิกกลุ่มอาชีพที่ถูกงดเว้นไม่ให้เข้าประกันสังคม เช่น ประมง แรงงานภาคเกษตร และแรงงานทำงานบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ ให้เข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมทั้งหมด
     

    ติดตาม "ประชาไท Prachatai.com" ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้า https://prachataistore.net
  9. คนไทยหวั่นแรงงานพม่าครองเมือง? สุ่มสำรวจมุมมองชาวบ้านร้านตลาด

    Mon, 28 Oct 2024 05:37:13 -0000

    คนไทยหวั่นแรงงานพม่าครองเมือง? สุ่มสำรวจมุมมองชาวบ้านร้านตลาด XmasUser

    จากการอภิปรายของ ‘ธิษะณา’ สส.พรรคประชาชน เสนอนโยบายแก้ไขปัญหาด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติ และผู้ลี้ภัย จนเกิดเป็นกระแสต่อต้านบนโลกออนไลน์ ติดแฮชแท็ก #พรรคประชาชนพม่า และ สส.พม่า ปลิวว่อนทั่วโลกออนไลน์ แต่คำถามคือ 'คนทั่วไปคิดเช่นเดียวกับบนโลกออนไลน์หรือไม่'

    จากข้อสงสัยดังกล่าวประชาไทลองเดินดุ่มสุ่มถามคนทั่วไป ท่ามกลางกระแสการต่อต้านแรงงานเมียนมาที่กำลังขยายตัว คนไทยมีความเห็นและรู้สึกต่อแรงงานพม่าอย่างไร มองชาวพม่าเข้ามาแย่งงานคนไทย หรือกังวลเรื่องปริมาณคนพม่าที่จะเข้ามาไทยเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือคิดเห็นอย่างไรเรื่องการเรียกร้องสิทธิแรงงานของชาวพม่า

    ประมวลไทม์ไลน์ จุดเริ่มต้นกระแสต่อต้านแรงงานพม่า

    นโยบายแรงงานข้ามชาติพม่าที่ดี จะช่วยประเทศไทย

    จุดเริ่มต้นถึงกระแสต่อต้านชาวพม่าระลอกล่าสุด และเป็นที่มาของแฮชแท็ก #พรรคประชาชนพม่า หรือ สส.พม่า เกิดขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว (ก.ย. 2567) เมื่อธิษะณา ชุณหะวัณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เขต 2 กทม. พรรคประชาชน ลุกขึ้นอภิปรายในการประชุมร่วม 2 สภาในวันแถลงนโยบายของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร

    ธิษะณา ชุณหะวัณ ลุกขึ้นอภิปรายเมื่อ 12 ก.ย. 2567 (ที่มา: ยูทูบ TPchannel)

    ธิษะณา เสนอว่า ไทยควรมีนโยบายด้านแรงงานข้ามชาติพม่าและผู้ลี้ภัย และชี้ว่าถ้าเราจัดการนโยบายเหล่านี้ได้ดี ‘จะเป็นคุณกับประเทศไทยมากกว่า’ เธอยกแนวนโยบาย เช่น การระดับสิทธิยกตัวอย่าง การให้การศึกษาแก่เด็กและเยาวชนพม่า แม้ว่าต้องใช้งบฯ เพิ่มขึ้น แต่เป็นการแก้ไขปัญหา และป้องกันไม่ให้เด็กตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ การบริการสาธารณสุข เพื่อป้องกันโรคระบาด

    สส.พรรคประชาชน เสนอนโยบายสนับสนุนใบอนุญาตทำงานแก่บุคลากรทางการแพทย์เพื่อลดภาระสาธารณสุขไทย และให้มาดูแลคนไข้ชาวพม่า ตลอดจนเปิดให้ชาวพม่าเข้ามาทำงานในส่วนที่ไทยยังขาดแคลน เนื่องจากตอนนี้ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และต้องการคนวัยทำงานเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

    ‘พริษฐ์’ แจงแก้ปัญหาให้ตรงจุด ต้องให้เข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคม

    ต่อมา พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.พรรคประชาชน ชี้แจงหลังเกิดกระแสต่อต้านหลังการอภิปรายของธิษะณา เรื่องสิทธิแรงงานพม่าว่า "แม้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนก็ต้องพูด" พร้อมเสนอให้นำแรงงานข้ามชาติพม่าทั้งหมดที่ผิดกฎหมาย ให้ขึ้นมาอยู่ในระบบ และเข้าถึงใบอนุญาตทำงานอย่างถูกกฎหมาย

    สส.พรรคประชาชน ชี้ว่าการทำแบบนี้จะเป็นการแก้ไขที่ตรงจุด และเป็นประโยชน์ในการป้องกันปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน การค้ามนุษย์ และตอบโจทย์บริหารการจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ 

    ทั้งนี้ พริษฐ์ เผยว่า ปัจจุบันมีคนงานพม่าอยู่ในประเทศไทยทั้งแบบถูกและผิดกฎหมาย ราว 6 ล้านคน ขณะที่ข้อมูลจากกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่า ในเดือน ก.ย. 2567 มีแรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติ ประกอบด้วย พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่มีใบอนุญาตทำงานทั่วประเทศอยู่ที่ 3,033,302 คน แต่อยู่ในระบบประกันสังคม ประมาณ 1.5 ล้านคนเท่านั้น

    ข้อเสนอของพริษฐ์ ตรงกับแผนของพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่จะดึงแรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติเข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมทั้งหมด เพื่อให้จ่ายภาษีให้ประเทศไทย และต่อชีวิตของกองทุนประกันสังคมซึ่งมีแนวโน้มจะล้มละลายในอีก 30 ปีข้างหน้า 

    นอกจากประเด็นดังกล่าว เพจเฟซบุ๊กบางเพจได้หยิบยกคำพูดในอดีตของ เซีย จำปาทอง สส.ปีกแรงงาน พรรคประชาชน จากรายการ "ถกxเถียง นโยบายพรรคก้าวไกล แก้ปัญหาปากท้องได้จริงหรือ ของ Matichon TV" เผยแพร่เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2566 ที่เสนอให้สิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมฝั่งผู้ประกันตนแก่แรงงานข้ามชาติ โดยให้เหตุผลว่าแรงงานพม่าเสียเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเหมือนกับชาวไทย ก็ควรได้สิทธิดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งได้เกิดกระแสวิจารณ์ว่าต่อไปคงมี สส.พม่า หรือถกเถียงว่าแรงงานข้ามชาติจ่ายภาษีให้ประเทศไทยมากน้อยขนาดไหน

    อนึ่ง กฎหมายแรงงานข้ามชาติบังคับให้แรงงานข้ามชาติทุกคนเข้าในระบบประกันสังคม เว้นเพียงผู้ที่เป็นแรงงานภาคเกษตร แรงงานทำงานบ้าน และผู้ที่ทำงานประมง

    กระแสต่อต้าน ผุดแฮชแท็ก #พรรคประชาชนพม่า

    แม้ว่าพรรคประชาชน ชี้ว่า การให้สิทธิแรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานในไทยจะเป็นผลดีต่อรัฐไทยแต่ก็มีประชาชนไม่เห็นด้วย โดยเริ่มจากบนสื่อโซเชียลมีเดียผุดแฮชแท็ก พรรคประชาชนพม่า หรือ สส.พม่า เนื่องจากไม่พอใจที่ธิษะณา อภิปรายเรียกร้องสิทธิให้คนพม่า

    บางคอมเมนต์ระบุว่า ‘สิทธิคนไทยยังได้ไม่เท่าเทียมเลยจะเอาคนพม่ามาเป็นภาระอีก’ ‘ฉันเสียภาษีให้คนไทย’ ‘คนไทยกำลังเดือดร้อนจากน้ำท่วม แต่อภิปรายให้สิทธิคนพม่า’ ขณะที่ผู้สนับสนุนพรรคประชาชนบางส่วนเห็นด้วยกับข้อเสนอขึ้นทะเบียนแรงงานพม่าให้ถูกกฎหมาย เพื่อเป็นการป้องกันการคอร์รัปชัน

    ไม่เฉพาะในโลกออนไลน์ ในสนามการเมืองก็มีการต่อต้าน ยกตัวอย่าง ชินภัสร์ กิจเลิศสิริวัฒนา อดีตรองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวหาว่า พรรคประชาชนตั้งใจให้สัญชาติไทยแก่แรงงานพม่าราว 6 ล้านคน เพื่อเอามาเป็นฐานเสียงเลือกตั้ง เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วจะสนับสนุนรัฐบาลเงาของอองซานซูจีสู้กับเผด็จการพม่า กลายเป็นสงครามตัวแทน

    ฝ่ายขวาลุยดะ ยื่นหนังสือควบคุมปริมาณแรงงานพม่า จัดการคนก่ออาชญากรรม 

    จากกระแสออนไลน์สู่กระแสออนไซด์ โดยเมื่อช่วงเดือน ก.ย.จนถึงต้นเดือน ต.ค. 2567 เครือข่ายภาคประชาชน ‘อนุรักษ์นิยม’ ในนาม "เครือข่ายราชภักดี" ร่วมด้วย "ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน" (ศปปส.) ได้ตระเวนยื่นหนังสือถึงหลายหน่วยงานรัฐทั้งกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน และอื่นๆ เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐมีมาตรการที่เข้มงวดในการจัดการปัญหาจำนวนคนพม่าในไทย ทบทวนมาตรการดึงแรงงานข้ามชาติและการให้สัญชาติ ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย และอื่นๆ 

    นอกจากนี้ เครือข่ายฯ มีความกังวลกับปริมาณแรงงานพม่าในประเทศไทย ปัญหาอาชญากรรมและภัยด้านความมั่นคง ไปจนถึงความไม่พอใจนโยบายต่างๆ ที่ผ่อนผัน และจะเป็นปัจจัยดึงดูดให้แรงงานพม่าเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น และอาจเข้ามาแย่งอาชีพคนไทย

    (ซ้าย) "ทรงชัย เนียมหอม" แกนนำประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน และ (ขวา) "อัครวุธ ไกรศรีสมบัติ" แกนนำอาชีวะราชภักดิ์ ระหว่างหารือกับ อารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (ที่มา: เว็บไซต์กระทรวงแรงงาน)

    มองหลากมุม ทัศนคติคนทั่วไปต่อแรงงานพม่า

    หลุดจากโลกออนไลน์มาแล้ว มาดูคนทั่วไปคิดอย่างไรในประเด็นแรงงานพม่า ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สัมภาษณ์ประชาชนย่านราชเทวี กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นย่านที่มีชาวพม่าอาศัยอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะในเพชรบุรีซอย 10 ที่มีชื่อเล่นว่า ‘ซอยกิ่งเพชร’ พวกเขามักประกอบอาชีพทั้งลูกจ้างเฝ้าหน้าร้านขายของ ขายอาหารพม่า พนักงานบริการที่ห้างสรรพสินค้า ไปจนถึงงานรับจ้างอื่นๆ

    จากการสัมภาษณ์พบว่าคนไทยไม่มีปัญหาเรื่องแรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานถูกกฎหมาย แต่ยอมรับกังวลกับปริมาณแรงงานพม่าที่เข้ามาในไทย เพราะกังวลเรื่องการคุกคามและความปลอดภัย

    'บ่าว' คนขับรถแท็กซี่จาก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา วัย 54 ปี เขามักเปิดวิทยุฟังข่าวสารเวลาขับรถ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เขาทราบว่าที่ชาวพม่าอพยพเข้ามาในไทย เพราะที่ประเทศพม่ากำลังเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจ

    บ่าว คนขับแท็กซี่จากภาคใต้

    คนขับแท็กซี่จากหาดใหญ่ ไม่เห็นด้วยที่แรงงานพม่าเข้ามาเป็นเจ้าของร้านขายของ เพราะมองว่าเป็นการแย่งอาชีพคนไทยและขัดกับกฎหมาย แต่ไม่ติดใจหากเข้ามาทำงานรับจ้างใช้แรงงาน

    "ผมแอนตี้ที่คนพม่ามาเป็นนายจ้าง มาเปิดร้านค้าต่างๆ ทั่วไป มาแย่งอาชีพพ่อค้าแม่ค้าคนไทยเยอะมาก เขาทำได้ไงผมชักอยากจะรู้ มันเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่หรือเปล่า"

    "คนพม่าเข้ามาได้แต่ต้องเข้ามาในทางที่ถูกต้อง และตามกฎหมาย คุณต้องมาใช้แรงงานเท่านั้น แต่ไม่ใช่มาเปิดร้านค้า ทำมาค้าขายไม่ได้” บ่าว คนขับแท็กซี่ กล่าว และเขาอยากให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเรื่องนี้อย่างเข้มงวด

    ทั้งนี้ พระราชกำหนดการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2561) ระบุว่า แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ แต่ยังทำงานเฝ้าหน้าร้านค้า หรือรับจ้างใช้แรงงานได้

    อย่างไรก็ดี ไม่นานมานี้ พิพัฒน์ รัชกิจประการ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ตอบปัญหานี้ว่า ทางกระทรวงแรงงานจะมีมาตรการป้องปรามแรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติ ที่ทำอาชีพสงวนคนไทยโดยเฉพาะการเป็นเจ้าของกิจการ โดยเริ่มจากการตักเตือนสื่อสารให้เข้าใจ แต่ถ้ายังฝ่าฝืน จะมีการปราบปรามอย่างเด็ดขาด ผลักดันกลับประเทศต้นทาง

    'ปิ่น' แม่ค้าล็อตเตอรีอายุ 44 ปี เล่าว่า เธอมีประสบการณ์ทั้งดีและไม่ดีกับแรงงานข้ามชาติ บางส่วนที่เข้ามาทำงานถูกกฎหมายเธอไม่มีปัญหาอะไร และมีชาวพม่าที่รู้จักด้วย เขาก็เป็นคนนิสัยน่ารัก แต่เธอไม่พอใจที่มีแรงงานข้ามชาติบางส่วนแย่งที่พ่อค้า-แม่ค้าคนไทยขายของ

    ปิ่น กล่าวว่า เธอมีเพื่อนขายของอยู่บนฟุตบาธบริเวณนี้ ซึ่งที่นี่จะแบ่งเป็น 2 รอบคือ เช้า และเย็น สมมติเวลาขายของบนทางเท้าต้องเสียค่าที่ให้กับเขต จะเป็นพื้นที่ล็อกใครล็อกมัน แต่วันดีคืนดีมีแรงงานข้ามชาติมาจากไหนไม่ทราบมาขายของทับที่คนอื่น พอเธอพยายามไปเตือนว่าขายไม่ได้ วันถัดมาก็เจอแรงงานข้ามชาติมา 4-5 คนมา ออกแนวคุกคาม ไม่ยอมไปขายที่อื่น เพราะเขาก็อ้างว่าเสียให้เจ้าหน้าที่เหมือนกัน แต่ไม่รู้ว่าเสียอะไร 

    แม่ค้าล็อตเตอรี ระบุว่า แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ชาวพม่า และเวียดนาม จะขายของโดยใช้รถเข็นตั้งร้าน สินค้าที่ขายมีตั้งแต่ไส้กรอกอีสาน ขนุนที่ปอกเป็นชิ้นๆ ทุเรียน และอื่นๆ 

    "เราเครียดอยู่นะเวลาเจอแบบนี้ เราไม่ได้อยากให้เขากลัว แต่มันน่าจะเกรงใจ เพราะว่าเราจ่ายเข้าเขต …ถ้าเขาจะมาขาย เราอยากให้เขาปฏิบัติตามกฎหมาย" ปิ่น กล่าว

    นอกจากปัญหาข้างต้น แม่ค้าล็อตเตอรียอมรับว่ามีความกังวลเกี่ยวกับจำนวนแรงงานพม่าที่เข้ามาไทยเพิ่มขึ้น เพราะละแวกที่เธออาศัยมีชาวพม่าจำนวนมาก พอเขารวมตัวกันเยอะ เธอมีความรู้สึกว่าคนพม่าทำอะไรไม่เกรงใจ พูดคุยเสียงดังรบกวน หรือทะเลาะเบาะแว้งกันเอง เธอก็มีกังวลเรื่องความปลอดภัยด้วย ดังนั้น เธอเลยอยากให้เจ้าหน้าที่กวดขันการเข้าเมืองของคนพม่า อยากให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้

    หลายคนมองไม่แย่งงานคนไทย

    จากประเด็นที่ว่า ‘คิดว่าคนพม่าแย่งงานคนไทยหรือไม่’ พบว่าหลายคนไม่คิดว่าคนพม่าแย่งงานคนไทย เนื่องจากมีงานในไทยเยอะ แค่คนไทยอย่างเดียวไม่พอ หรือบางคนมองว่าคนไทยค่อนข้างเลือกงาน

    สะพานเฉลิมหล้า 56 หรือสะพานหัวช้าง

    ‘ไหม’ แม่ค้าอาหารริมทางวัย 36 ปี จากจังหวัดร้อยเอ็ด เธอไม่คิดว่าคนพม่ามาแย่งงานคนไทย เพราะว่าในไทยมีงานค่อนข้างเยอะ แค่คนไทยอย่างเดียวไม่พอ

    "รู้สึกว่าไม่เห็นด้วยที่คนคิดอย่างนั้น(คนพม่าจะเข้ามาแย่งงานคนไทย) ถ้าเขาเข้ามาถูกกฎหมายก็โอเค ไม่ได้แย่งงานหรอก งานมันเยอะนะ" แม่ค้าจากร้อยเอ็ด กล่าว

    ขณะที่พ่อค้า 'นิรนาม' ขอไม่เปิดเผยตัวตน เล่าว่า ช่วงที่ผ่านมาคนพม่าเข้ามาในไทยเยอะขึ้น และที่สนามกีฬาเดี๋ยวนี้มีแต่ชาวพม่าเล่นฟุตบอลและเตะตระกร้อ บางทีเขากังวลไม่กล้าพาลูกอ่อนไปหัดเดิน เพราะกลัวลูกบอลมาโดนลูก

    เมื่อถามว่าคนพม่าแย่งงานคนไทยไหมในความคิดเขา พ่อค้ารายนี้ตอบอย่างฉะฉานว่าไม่คิดอย่างนั้น พร้อมสำทับว่าปัญหาอยู่ที่คนไทยเลือกงาน และยกตัวอย่างด้วยว่าถ้าไปดูคนล้างจานในศูนย์การค้า MBK (มาบุญครอง) ลูกจ้างในโรงงานทำน้ำส้มในซอย (พญานาค) หรือตามบ้านเรือน เป็นแรงงานพม่าหมด เพราะว่าคนไทยไม่ทำเอง

    "ไปโทษเขาได้ไงว่ามาแย่งงานเราทำ ไอ้ประเด็นแย่งงานผมไม่เห็นด้วย เพราะว่าเราไม่ทำเอง …เขาได้หลายภาษาด้วย ภาษาอังกฤษเขายังปร๋อกว่าเรานะ" พ่อค้าคนเดิมแสดงความเห็น

    พ่อค้านิรนาม เสริมว่า แรงงานพม่าไม่ได้เป็นแรงงานราคาถูกอย่างที่เข้าใจ พวกเขาได้ค่าแรงตามค่าจ้างขั้นต่ำ และถ้าพูดภาษาไทยได้ก็จะได้เงินเพิ่มขึ้นเป็นราว 500 บาทต่อวัน ทำงานสักพักออกมาเช่าห้องราคา 20,000 บาท คนไทยบอกแพง แต่คนพม่าเช่าไหว

    ไม่เห็นด้วยเรียกร้องสิทธิเท่าคนไทย

    จากการตระเวนพูดคุย พบว่าบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องสิทธิของชาวพม่าที่มากหรือเทียบเท่ากับคนไทย อย่าง 'หนุ่ม' พ่อค้าขายผลไม้รถเข็นอายุ 35 ปี กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาติดตามข่าวที่มีกลุ่มคนไปยื่นหนังสือที่ต่างๆ ประกอบกับการลองศึกษาดูด้วยตัวเอง ซึ่งเขาไม่เห็นด้วยเรื่องการเรียกร้องสิทธิของคนพม่าที่ต้องการมากกว่าหรือเท่าเทียมกับคนไทย ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ

    ยกตัวอย่างว่า ข้อเรียกร้องของแรงงานพม่าที่บอกว่าคนที่เข้ามาผิดกฎหมายหรือหนีภัยการเมืองเข้ามาประเทศไทย ต้องทำบัตรอนุญาตทำงานหรือวีซ่าให้เขาเลย ลูกหลานถ้าเกิดที่นี่ต้องได้สวัสดิการเท่ากับลูกหลานคนไทยทุกอย่าง แบบนี้มันเกินกว่ากฎหมายที่ระบุไว้

    "การเรียกร้องสิทธิมันเยอะเกินไป เยอะจนเขาลืมไปรึเปล่าว่าเขามาอาศัยอยู่ หรือมาตั้งกลุ่มแก๊งข่มเหงคนไทย ไม่โอเคเลย คนไทยบางคนได้สิทธิไม่เยอะเท่ากับที่เขาเรียกร้อง" หนุ่ม กล่าว

    สำหรับพ่อค้าผลไม้ เขารับได้ถ้าแรงงานพม่าเข้ามาและยินยอมรับสิทธิตามที่กฎหมายมี อย่างไรก็ดี เท่าที่เขาพบเจอ แรงงานพม่าก็เข้ามาทำงานอย่างเดียว ไม่ได้มาเรียกร้องสิทธิอะไรที่เกินคนไทย  

    'หนุ่ม' พ่อค้าขายผลไม้วัย 35 ปี

    แรงงานพม่าใช้สิทธิรักษาจากภาษีคนไทย (?)

    ‘แนน’ ชาว อ.แม่สาย จ.เชียงราย อายุ 41 ปี เธอมาขายของเฉพาะช่วงวันหยุด ให้ความเห็นต่อประเด็นที่ว่า ‘คนพม่าใช้ภาษีคนไทยเป็นสิทธิรักษาพยาบาล’ หรือไม่ เธอคิดว่าชาวพม่าที่มารักษาในโรงพยาบาลรัฐ เป็นการใช้สิทธิประกันสังคม ถ้าเขาไม่มีสิทธิประกันสังคม คนพม่าก็ต้องจ่ายเงินเอง หรือบางคนอาจไม่กล้าไปโรงพยาบาล เพราะกลัวถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจับตัวระหว่างทาง

    “คนพม่าเขาจ่ายในส่วนของเขาเสียประกันสังคมทุกเดือนอย่างที่เราเสียเงินเหมือนกัน นายจ้างจ่ายในส่วนของเขา ไม่ได้มาแย่งอะไร ส่วนคนไทยมีสิทธิเยอะกว่าคนพม่าอยู่แล้ว โดยเฉพาะสิทธิบัตรทองที่เอาเงินงบประมาณของรัฐบาลมาจ่าย ซึ่งคนพม่าเข้าไม่ถึง บางคนเขาไม่เข้าใจ” แม่ค้าเชียงราย กล่าว

    ทั้งนี้ ประกันสังคม ม.33 เป็นการจ่ายสมทบจาก 3 ฝ่าย ได้แก่ ลูกจ้าง (แรงงานพม่า) นายจ้าง และภาครัฐ แต่ถ้าแรงงานข้ามชาติมาทำงานเป็นแม่บ้าน ทำงานประมง หรือแรงงานภาคการเกษตร จะไม่ได้เข้าระบบประกันสังคม

    แนน ยังเล่าให้ฟังด้วยว่า บ้านของเธออยู่แม่สาย ทำให้เธอรู้จักและคุ้นเคยกับชาวพม่ามานาน สมัยเด็กเธอมีพี่เลี้ยงเป็นชาวพม่า และตัวเธอเองอยากศึกษาในสาขาวิชาพม่าศึกษาที่เชียงรายด้วย แต่สอบไม่ติด เธอกล่าวว่าส่วนตัวไม่กังวลที่คนพม่าจะเข้ามาในประเทศ

    "บางคนเขาก็กลัวที่นี่เป็นชุมชนโบราณ เรียกว่าชุมชน ‘บ้านครัว’ คนที่นี่เขาจะปล่อยบ้านเช่า ส่วนใหญ่ก็เป็นคนพม่ามาเช่า และคนพม่าก็ไปใช้ชีวิตรวมกลุ่มในลานกีฬา พวกลุง-ป้าไม่ค่อยให้หลานออกไปเล่น ความรู้สึกเขาคงไม่อยากให้ไปเล่นแถวนั้น แต่ข้อเท็จจริงคนพม่าเขาก็ไม่อะไรนะ เขาก็คนปกติเหมือนกับเรา" แม่ค้าจากเมืองเชียงราย กล่าว 

    แนน ชาวเชียงราย

    ติดตาม "ประชาไท Prachatai.com" ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้า https://prachataistore.net
  10. เข็นอย่างไร? ให้เชียงใหม่มีขนส่งสาธารณะเสียที

    Sun, 27 Oct 2024 12:28:34 -0000

    เข็นอย่างไร? ให้เชียงใหม่มีขนส่งสาธารณะเสียที XmasUser

    เชียงใหม่ขาดแคลนระบบขนส่งมวลชนมานานกว่า 30 ปี ความพยายามผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดนี้ต้องเผชิญอุปสรรคต่าง ๆ ตั้งแต่การที่เทศบาลนครเชียงใหม่และบริษัท RTC ต้องแบกรับต้นทุนการเดินรถเมล์ ไปจนถึงความไร้ระเบียบและไร้เส้นทางประจำของรถสี่ล้อแดงที่วิ่งในจังหวัด ปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายการปรับปรุงระบบคมนาคมเชียงใหม่ แต่เน้นไปที่การสร้างถนนและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายสนามบินเชียงใหม่ ส่วนนโยบายพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะยังคงถูกละเลย

    ปัญหาขนส่งสาธารณะในจังหวัดเชียงใหม่สามารถสรุปได้อย่างสั้นๆ ว่า "ปล่อยให้แข่งขัน และตายไปเอง" โดยมีต้นเหตุมาจาก "โครงสร้างทางนโยบาย" ที่ไม่มีเจ้าภาพระดับจังหวัดในการจัดการ และเกิดความเหลื่อมล้ำเมื่อเปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ และปริมณฑล

    โครงสร้างนโยบายและปัญหาของขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ (ที่มา: ปฐวี กันแก้ว)

    รถเมล์สาย 12 วงกลม (วนซ้าย/ขวา) โดยเทศบาลนครเชียงใหม่ จอดที่สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 2 อาเขต ภาพถ่ายเดือนกันยายน 2557 (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาไท)

    1.  เทศบาลนครเชียงใหม่ เจ้าภาพแบกรับภาระขนส่งรถเมล์

    พระราชบัญญัติขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดให้เจ้าภาพในการบริหารนโยบายขนส่งสาธารณะระดับจังหวัด เป็นคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด ซึ่งมีหน้าที่ออกใบอนุญาตสัมปทาน กำหนดราคาค่าโดยสาร ประเภทของรถโดยสาร และเส้นทางการเดินรถ โดยมีสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้ปฏิบัติ โครงสร้างดังกล่าวทำให้ภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลายเป็นผู้ประกอบการที่ต้องแข่งขันกันเอง ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการหลายรายไม่สามารถดำเนินการต่อได้ในระยะยาว

    ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2540 บริษัทเอกชนที่ให้บริการรถเมล์ต้องหยุดให้บริการ เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับรถสองแถวและรถสามล้อที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการบริการทับเส้นทางกัน และเกิดการแย่งผู้โดยสาร ผู้ประกอบการรถเมล์ที่มีขนาดใหญ่และขาดความคล่องตัวจึงต้องขาดทุนและเลิกกิจการในที่สุด

    แม้ในปี พ.ศ. 2548 เทศบาลนครเชียงใหม่จะเริ่มให้บริการ “รถเมล์ขาว” แต่รายรับจากการดำเนินการยังไม่เพียงพอกับต้นทุนการให้บริการ โดยแม้ว่าจะมีการหารายได้เสริมจากค่าโฆษณาข้างรถ แต่เทศบาลยังคงต้องใช้งบประมาณท้องถิ่นมาสนับสนุนการดำเนินงาน

    จากข้อมูลในตารางที่ 1 และตารางที่ 2 ที่แสดงรายรับรายจ่ายในช่วงปี พ.ศ. 2558-2564 จะเห็นได้ว่ากิจการเดินรถของเทศบาลมีรายรับมากกว่ารายจ่าย เนื่องจากได้รับงบประมาณช่วยเหลือจากท้องถิ่นเพื่ออุดหนุนรายจ่าย แต่หากไม่มีการอุดหนุนรายรับจากภาครัฐ รายได้จากค่าโดยสารและโฆษณาจะไม่เพียงพอต่อการดำเนินงาน

    ตารางที่ 1 รายรับจริงในช่วงปี พ.ศ. 2558 – 2564 กิจการเดินรถประจำทางเทศบาลนครเชียงใหม่ (หน่วย:บาท)

    รายการค่าโดยสารค่าเช่าสิทธิโฆษณาดอกเบี้ยรายได้เบ็ดเตล็ดเงินช่วยเหลืองบเฉพาะรวมรายรับ
    2558137,905.000.0033,348.361,500.004,000,000.004,172,753.36
    25591,004,750.00346,000.0034,242.66136,124.508,000,000.009,521,117.16
    25601,534,015.00231,000.0076,006.1023,837.5010,000,000.0011,864,858.60
    25611,681,680.00258,468.00116,632.308,955.0012,000,000.0014,065,575.00
    25621,631,845.00301,800.00172,992.508,937.5012,000,000.0014,115,575.00
    2563881,235.0081,464.00129,824.844,312.006,500,000.007,596,835.84

    2564

    (10 เดือน)

    296,380.0034,167.004,225.253,224.076,000,000.006,337,993.30

    ที่มา: เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2559 – 2564 เทศบาลนครเชียงใหม่

    ตารางที่ 2 รายจ่ายจริงในช่วงปี พ.ศ. 2558-2564 กิจการเดินรถประจำทางเทศบาลนครเชียงใหม่ (หน่วย: บาท)

    รายการรายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งบริการค่าบำรุงรักษาและซ่อมแซมค่าวัสดุรวมค่าสาธารณูปโภคงบลงทุนรวมรายจ่าย
    25582,502,098.251,500.00893,823.831,228.950.003,398,651.03
    25593,439,230.9213,749.401,430,148.101,405.850.004,884,534.27
    25604,049,887.9259,565.901,900,941.001,268.6029,900.006,041,563.42
    25615,031,418.08137,860.002,938,679.151,421.090.008,109,378.32
    25625,236,462.28260,700.002,984,266.851,256.400.008,482,685.53
    2563N/AN/AN/AN/AN/A7,306,866.42

    2564

    (10 เดือน)

    N/AN/AN/AN/AN/AN/A

    ที่มา: เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2559 – 2564 เทศบาลนครเชียงใหม่ที่มา: เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2559 – 2564  (หมายเหตุ ปี 2563  ในเอกสารปรากฏเพียงงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดในส่วนของงบดำเนินการเพียงชุดเดียว ในขณะที่ปี 2564 ปรากฏเพียงงบประมาณการรายจ่ายเพียงเท่านั้น)

    ตารางที่ 3 แสดงข้อมูลเปรียบเทียบรายรับ-รายจ่าย ในช่วงปี พ.ศ. 2558-2564 กิจการเดินรถประจำทางเทศบาลนครเชียงใหม่ (หน่วย:บาท)

    ปีงบประมาณรวมรายรับจริงรวมรายจ่ายจริงรายรับมากกว่ารายจ่าย
    25584,172,753.363,398,651.03774,102.33
    25599,521,117.164,884,534.274,636,582.89
    256011,864,858.606,041 ,563.425,823,295.18
    256114,065,735.308,109,378.325,956,356.98
    256214,105,575.008,482,685.535,622,889.47
    2563ไม่ปรากฎข้อมูล7,306,866.42289,969.42

    ที่มา: เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2559 – 2564 (หมายเหตุ: สำหรับตารางเปรียบเทียบปี 2564 ไม่ปรากฎเนื่องจากในเอกสารเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี มิได้มีการระบุเอาไว้)

    จากข้อมูลในตารางพบว่า กิจการเดินรถของเทศบาลนครเชียงใหม่ หรือรถเมล์ขาว ประสบปัญหาขาดทุนมาตลอด แม้ในช่วง 6 ปีสุดท้ายก่อนการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงที่การท่องเที่ยวในเชียงใหม่เติบโตอย่างมาก ปัญหานี้สะท้อนถึงภาวะ "ปล่อยให้แข่งขัน และตายไปเอง" ที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญ เนื่องจากไม่มีการอุดหนุนอย่างเพียงพอในระหว่างที่รอให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ขนส่งสาธารณะ

    จากข้อมูลตารางที่ 2 และตารางที่ 3 จะเห็นได้ว่ากิจการเดินรถประจำทาง เทศบาลนครเชียงใหม่ ที่มีรายรับมากกว่ารายจ่ายนั้น เกิดจากการนำรายรับจากค่าโดยสาร ค่าเช่าสิทธิ์โฆษณา และรายได้อื่นๆ มาคำนวณร่วมกับ “งบประมาณช่วยเหลือเฉพาะการ” ที่เทศบาลนครเชียงใหม่ตั้งเอาไว้เพื่ออุดหนุนรายจ่าย แต่เมื่อตัดงบประมาณก้อนดังกล่าวออกจะพบว่ารายรับน้อยกว่ารายจ่ายจริง

    ตารางที่ 4 แสดงข้อมูลเปรียบเทียบรายรับ-รายจ่าย ในช่วงปี พ.ศ. 2558-2564 กิจการเดินรถประจำทางเทศบาลนครเชียงใหม่ เมื่อตัดงบประมาณเงินช่วยเหลือเฉพาะการ (หน่วย: บาท)

    ปีงบประมาณรายรับที่ตัดเงินช่วยเหลือเฉพาะการรายจ่ายจริงรายรับน้อยกว่าค่าใช้จ่าย
    2558172,753.363,398,651.033,225,897.67
    25591,521,117.164,884,534.273,363,417.11
    25601,864,858.606,041,563.424,176,704.82
    25612,065,735.308,109,378.326,043,643.02
    25622,105,575.008,482,685.536,377,110.53
    25634,172,753.367,306,866.423,134,113.06

    ที่มา: เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2559 – 2564 (หมายเหตุ: ตารางเปรียบเทียบปี 2564 ไม่ปรากฎเนื่องจากในเอกสารเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี มิได้มีการระบุเอาไว้)

    จากข้อมูลตารางที่ 4 จะเห็นว่าในปี พ.ศ. 2558 รายรับที่ตัดเงินช่วยเหลือเฉพาะการออกอยู่ที่เพียง 172,753.36 บาท ขณะที่รายจ่ายจริงอยู่ที่ 3,398,651.03 บาท แปลว่าเทศบาลต้องแบกรับค่าใช้จ่ายสูงถึง 3,225,897.67 บาท และแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินไปในหลายปีถัดๆ มา โดยในปี พ.ศ. 2562 ขาดทุนมากกว่า 6,377,110.53 บาท

    2. อุปทานล้นเกินของรถสี่ล้อแดง

    จุดจอดบริการรถสี่ล้อแดงเชียงใหม่ ที่สถานีขนส่งอาเขต ภาพเมื่อปี 2561 (ที่มา: แฟ้มภาพ/TCIJ)

    ปัญหาอุปทานล้นเกิน (oversupply) ของรถสี่ล้อแดงเกิดจากการที่จำนวนรถเพิ่มขึ้นอย่างไร้การควบคุม ส่งผลให้การจัดระเบียบและกำหนดเส้นทางเดินรถไม่ประสบผลสำเร็จ แม้จะมีการเริ่มต้นจัดระเบียบตั้งแต่ปี 2548 โดยการสนับสนุนรถเมล์ขาว และการจัดระเบียบรถสี่ล้อแดง เพื่อรองรับงานมหกรรมพืชสวนโลกในปี 2549 แต่การดำเนินนโยบายกลับขาดความต่อเนื่อง

    ในช่วงปี 2557-2560 รัฐบาลหลังรัฐประหารพยายามจัดระเบียบระบบขนส่งใหม่ แต่ยังคงประสบปัญหา จำนวนรถสี่ล้อแดงในเชียงใหม่ในขณะนั้นสูงถึง 2,465 คัน แต่มีเพียง 550 คันเท่านั้นที่วิ่งในเส้นทางประจำทาง ส่วนที่เหลืออีกเกือบ 2,000 คันยังคงให้บริการแบบเดิม คือคิดราคาเหมา ทำให้การจัดการไม่ได้ผลอย่างที่คาดหวัง

    นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการขนส่งทางบกได้พยายามแก้ไขปัญหาโดยคืนสัมปทานรถโดยสารประจำทาง พร้อมกำหนดค่าโดยสารที่ 30 บาทตลอดสาย และจำกัดราคาค่าเหมาไม่เกิน 200 บาทต่อเที่ยว แต่ต้นทุนการเดินรถ เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงลิตรละ 33 บาท ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามมาตรฐานได้จริง ผู้ให้บริการจึงเลือกที่จะลดจำนวนเที่ยววิ่งและเพิ่มค่าโดยสารเพื่อคงรายได้ในการดำรงชีพ

    ปัญหานี้ยังสะท้อนถึงความยากลำบากของรถสองแถวสีอื่น ๆ ที่ให้บริการระหว่างอำเภอ เช่น บริเวณสถานีขนส่งช้างเผือก รอบตลาดวโรรส และประตูเชียงใหม่ ที่ต้องเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ไม่สามารถขึ้นราคาค่าโดยสารได้มาก เนื่องจากผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่มีรายได้น้อยและนักเรียนที่ต้องเดินทางเข้าเมือง

    3. รถเมล์ RTC ขอปรับค่าตั๋วเป็น 50 บาท ก็ยังไม่สะท้อนต้นทุน

    สภาพห้องโดยสารของรถเมล์ RTC เชียงใหม่เมื่อปี 2562 (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาไท)

    พิธีเปิดการเดินรถโดยสารเส้นทาง สาย 24 ของรถเมล์ RTC เมื่อ 29 ธันวาคม 2566 (ที่มา: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่)

    รถเมล์ RTC เชียงใหม่กลับมาเดินรถอีกครั้ง ภาพถ่ายเมื่อมกราคม 2567 ที่สนามบินเชียงใหม่ (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาไท)

    บริษัท RTC ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นความหวังของระบบขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่ เผชิญกับปัญหาต้นทุนการดำเนินงานที่สูง โดยเฉพาะหลังยุคโควิด-19 ซึ่งจำนวนผู้โดยสารลดลง 2 ถึง 2.5 เท่า เหลือผู้โดยสารเฉลี่ยเพียง 102 คนต่อวัน ทำให้บริษัทต้องปรับค่าโดยสารจาก 30 บาทเป็น 50 บาทตลอดสาย เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนเดินรถ ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 97.80 บาทต่อคน

    ต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ระบบขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่มีต้นทุนสูงขึ้น แม้ภาครัฐจะมีการตรึงราคาน้ำมันดีเซล แต่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผันผวนยังคงเป็นภาระที่สำคัญต่อผู้ประกอบการ จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางของคนเชียงใหม่สูงถึง 10% ของรายได้ขั้นต่ำ ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 350 บาทต่อวัน การเดินทางไป-กลับจึงไม่ควรมีค่าใช้จ่ายเกิน 35 บาท อย่างไรก็ตาม ค่าโดยสารในระดับนี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีการอุดหนุนงบประมาณจากภาครัฐเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ

    อีกหนึ่งปัญหาของระบบขนส่งสาธารณะเชียงใหม่คือการรวมศูนย์อำนาจที่นโยบายถูกกำหนดจากส่วนกลางมาเป็นเวลานาน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 1 ถึง 7 กำหนดให้เชียงใหม่เป็นหัวเมืองภูมิภาค แต่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนและระบบสาธารณูปโภค มากกว่าระบบขนส่ง แม้จะมีการศึกษาโครงการรถไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2536 แต่ความล่าช้าก็ยังเป็นอุปสรรค หลังจากนั้นก็มีแผนพัฒนาขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ออกมาตลอดจนทั้งระดับรถเมล์โดยสาร และรถไฟฟ้า ล่าสุดคือโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) ที่ยังรอมติคณะรัฐมนตรีในการอนุมัติก่อสร้าง ทำให้ระบบขนส่งไม่พัฒนาตามความต้องการของประชาชน

    4. โครงสร้างรวมศูนย์ในการบริหารขนส่งสาธารณะเชียงใหม่

    อีกปัญหาหลักยังเป็นการรวมศูนย์อำนาจบริหารจัดการโดยสำนักงานขนส่งจังหวัด ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางออกใบอนุญาตสัมปทานเส้นทางขนส่ง ซึ่งไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของการจราจรที่ขยายตัวตามแนวถนนตัดใหม่ได้ ผู้ประกอบการเอกชนมักเลือกเส้นทางที่มีผู้โดยสารมาก เช่น เส้นทางที่ผ่านสถานที่ท่องเที่ยว ทำให้พื้นที่อื่นที่ไม่มีบริการขนส่งสาธารณะต้องใช้ยานพาหนะส่วนตัว ซึ่งเป็นสาเหตุของการจราจรติดขัดและอุบัติเหตุในเมืองเพิ่มขึ้น

    กรณี "ดราม่ารถแดง" ที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาก็เป็นตัวอย่างชัดเจน รถสี่ล้อแดงในเชียงใหม่ถูกวิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์ในเรื่องราคาค่าโดยสารที่ไม่เป็นมาตรฐาน การเหมาเกินจริง และการจอดไม่ถึงจุดหมาย ทำให้ประชาชนหันไปใช้บริการแอปพลิเคชันอย่าง Grab หรือ Bolt แทน แม้ว่าจะมีการปรับปรุงให้บริการรถสี่ล้อแดง เช่น การกำหนดราคาที่ชัดเจนขึ้น แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างยังคงไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้ผู้ประกอบการยังคงผลักภาระค่าโดยสารไปที่ผู้โดยสาร

    อีกปัญหาสำคัญคือการบริหารสหกรณ์รถสี่ล้อแดงที่ไม่สามารถควบคุมสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ บางสมาชิกถือครองรถหลายคันและปล่อยให้เช่าช่วงกับคนขับที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ หรือไม่ได้รับการอบรมเพียงพอ ทำให้คุณภาพการให้บริการลดลง และสหกรณ์ก็ไม่สามารถตรวจสอบหรือควบคุมการดำเนินงานของสมาชิกได้

    การรวมศูนย์อำนาจยังสะท้อนให้เห็นในบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งตามพระราชบัญญัติขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการขนส่งประจำจังหวัด โดยมีวาระ 4 ปี แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่มักอยู่ในตำแหน่งเฉลี่ยเพียง 2 ปีเท่านั้น ซึ่งทำให้นโยบายขนส่งสาธารณะขาดความต่อเนื่อง และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน

    อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือการขัดแย้งของบทบาทองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอย่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาล ที่ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้กำกับดูแลและผู้ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ เมื่อองค์กรเหล่านี้ต้องใช้งบประมาณของตนเองมาสนับสนุนการดำเนินงานระบบขนส่ง ทำให้การพัฒนาและขยายเส้นทางต้องเผชิญกับข้อจำกัด เพราะยังต้องแข่งกับผู้ประกอบการเอกชนที่ต้องแบกรับต้นทุนเองทั้งหมด

    งบประมาณปี 2567 ของอบจ.เชียงใหม่ แสดงให้เห็นถึงการเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ยังให้ความสำคัญกับการก่อสร้างถนนมากกว่าการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ งบประมาณ 73% ของงบลงทุนทั้งหมด หรือประมาณ 224,975,400 บาท จาก 304,751,510 บาท ถูกจัดสรรไปใช้ในการก่อสร้างและปรับปรุงถนนในพื้นที่ต่างอำเภอ แม้ว่าการพัฒนาถนนจะเป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่ แต่นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่สะท้อนว่าโครงสร้างการพัฒนาให้ความสำคัญกับถนนมากกว่าการขนส่งสาธารณะ

    ปัญหาอื่นที่ทำให้การพัฒนาขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่ไม่ก้าวหน้า คือข้อจำกัดด้านพื้นที่ให้บริการของเทศบาลนครเชียงใหม่ รถเมล์ขาวให้บริการเฉพาะในเขตถนนวงแหวนรอบที่หนึ่ง แต่ปัญหาการจราจรติดขัดจริงๆ เริ่มต้นจากถนนวงแหวนรอบที่สอง ทำให้รถเมล์ขาวไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาลนครพิงค์ที่อยู่นอกเขตเทศบาล

    นอกจากนี้ การบริหารจัดการงบประมาณของอบจ.เชียงใหม่ยังคงให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนและระบบสาธารณูปโภคมากกว่าการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งสะท้อนถึงแนวคิดของการพัฒนาคมนาคมในระดับประเทศที่ยังคงเน้นโครงสร้างถนนมากกว่าการสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน

    ท้ายที่สุด ปัญหาของระบบขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่ยังคงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ขาดการจัดการที่เป็นระบบและการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ไม่มีเจ้าภาพหลักในการดูแลและจัดการ ทำให้การแก้ไขปัญหา การจัดระเบียบ และการอุดหนุนงบประมาณเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง และยังขาดประสิทธิภาพในการดำเนินการอย่างแท้จริง

    5. แนวโน้มนโยบายขนส่งสาธารณะเชียงใหม่

    เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการต่างๆ ที่เชื่อมโยงระบบขนส่งและเดินทางในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ห้องประชุมกองบิน 41 จ.เชียงใหม่ เมื่อ 11 มกราคม 2567 (ที่มา: มติชน)

    ในเดือนมกราคม 2567 นโยบายพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่ได้รับการผลักดันอย่างชัดเจนจากการลงพื้นที่ของ เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มุ่งเน้น 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การติดตามโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit - LRT) และการพัฒนารถสี่ล้อแดงให้เป็นรถไฟฟ้า (Electronic Vehicle - EV) แม้ว่าจะมีการประชุมเพื่อผลักดันนโยบายเหล่านี้ แต่โครงการ LRT ยังคงต้องรอการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และยังไม่แน่ชัดว่าจะสามารถดำเนินโครงการได้เมื่อใด

    ในส่วนของการพัฒนารถสี่ล้อแดงเป็น EV ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเสนอของอดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน  แม้ว่าจะมีการนำร่องไปแล้ว 1 คันในเส้นทางของรถสองแถวเขียวสายอำเภอเมือง-สันทราย และมีการลงทะเบียนรถเพิ่มเติม แต่โครงการนี้ยังเผชิญกับปัญหาหลายด้าน รวมทั้งต้นทุนการแปลงสภาพเป็นรถ EV ซึ่งสูงถึง 500,000-600,000 บาทต่อคัน ข้อจำกัดเรื่องอู่ซ่อมบำรุงและชิ้นส่วนรถที่ต้องนำเข้าจากจีน ส่งผลให้สามารถปรับเปลี่ยนรถได้เพียงประมาณ 10 คันต่อเดือน ปัญหาเหล่านี้ทำให้โครงการเปลี่ยนรถเป็น EV เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาต้นทุนการเดินรถได้อย่างแท้จริง

    ในเดือนพฤษภาคม 2567 กระทรวงคมนาคมได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 67 พ.ศ. 2564 ที่ถ่ายโอนอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถออกแบบเส้นทางเดินรถเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาสำนักงานขนส่งประจำจังหวัดเพียงอย่างเดียว แม้ว่าจะเป็นการลดขั้นตอนการขอสัมปทานเดินรถ แต่มาตรการดังกล่าวยังคงเป็นเพียงการเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการขอหรือต่อใบอนุญาตเดินรถเท่านั้น

    นโยบายการพัฒนาคมนาคมยังคงเน้นไปที่การสร้างโครงข่ายถนนเป็นหลัก เช่น โครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนทางหลวง หมายเลข 121 หรือถนนเลียบคลองชลประทาน หางดง-แม่ริม และเพิ่มการเชื่อมทางยกระดับถนนวงแหวนรอบที่ 3 นอกจากนี้ยังมีโครงการขยายท่าอากาศยานเชียงใหม่ ซึ่งจัดการประชุมรับความคิดเห็นเมื่อเดือนสิงหาคม 2567 โดยมีการวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น การก่อสร้างทางยกระดับและการขยายสนามบินเชียงใหม่

    โครงการเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่านโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐยังคงมุ่งเน้นไปที่การสร้างถนนและเป็นการรองรับโครงการขยายสนามบินเชียงใหม่มากกว่า ในขณะที่นโยบายพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถโดยสารหรือรถเมล์ กลับถูกละเลย การแก้ปัญหาขนส่งจึงเกิดขึ้นเพียงที่ปลายเหตุ และยังต้องพึ่งพาการลงทุนจากภาคเอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องรับความเสี่ยงในการขาดทุนในระยะแรก

    3 ขั้นปรับโครงสร้าง พลิกโฉมขนส่งสาธารณะเชียงใหม่

    จุดจอดรถประจำทาง บริเวณประตูท่าแพ ฝั่งด้านในคูเมือง (ที่มา: Google Street View)

    ปัญหาการบริหารจัดการขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของการบริหารเชิงระบบเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึกมาเป็นเวลานาน โดยแนวทางการแก้ปัญหาแบบ “บันได 3 ขั้น” เพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างนโยบายขนส่งสาธารณะของเชียงใหม่ตามที่นำเสนอมาข้างต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขนส่งและสามารถตอบสนองความต้องการเดินทางของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น

    บันไดขั้นแรก เปลี่ยนเจ้าภาพการบริหารจัดการ

    สิ่งสำคัญในบันไดขั้นแรกนี้คือการปรับเปลี่ยนผู้ที่มีอำนาจในการบริหารจัดการระบบขนส่งจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น โดยเฉพาะการแก้ไขพระราชบัญญัติขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ที่กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการขนส่งประจำจังหวัด ซึ่งหมายความว่าท้องถิ่นไม่มีบทบาทในการตัดสินใจเกี่ยวกับระบบขนส่งของตนเอง ข้อเสนอคือให้เปลี่ยนจากผู้ว่าราชการเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเพิ่มกรรมการจากท้องถิ่น เช่น ประธานสภาหอการค้า ประธานสภาอุตสาหกรรม เพื่อให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการวางแผนและบริหารระบบขนส่งที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการในพื้นที่

    การกระจายอำนาจนี้จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งในระบบขนส่งสาธารณะ ตัวอย่างเช่น กรณีของรถสี่ล้อแดงที่มีปัญหากับการให้บริการรถแอปพลิเคชัน ซึ่งเคยมีการพยายามจัดระเบียบให้รถสี่ล้อแดงเข้ามาให้บริการในฐานะรถประจำทาง แต่การดำเนินนโยบายนี้ขาดความต่อเนื่องเมื่อผู้นำทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นเปลี่ยนแปลง การที่ท้องถิ่นมีอำนาจในการตัดสินใจเองจะทำให้การจัดการเหล่านี้มีความต่อเนื่องมากขึ้น

    ล่าสุดเมื่อ 28 สิงหาคม 2567 สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.พรรคประชาชน ได้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ขนส่งทางบก เพื่อเปลี่ยนประธานคณะกรรมการจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นนายก อบจ. และเพิ่มจำนวนกรรมการจากท้องถิ่นจาก 1 ตำแหน่ง เป็น 5 ตำแหน่ง แต่ร่างดังกล่าวไม่ผ่านมติในสภาฯ

    บันไดขั้นที่สอง อุดหนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง

    แม้ว่าจะมีการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น การพัฒนาระบบขนส่งยังต้องอาศัยงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา การจัดระเบียบรถสี่ล้อแดงไม่ประสบความสำเร็จ เพราะขาดการอุดหนุนงบประมาณเพียงพอในการจ้างรถสี่ล้อแดงมาให้บริการแบบรถประจำทาง ปัญหา oversupply หรือการมีรถมากเกินความต้องการยังคงไม่ได้รับการแก้ไข เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถประกันรายได้ที่แน่นอนให้แก่ผู้ขับรถได้ ผลที่ตามมาคือรถสี่ล้อแดงยังคงกลับไปให้บริการในลักษณะเดิม ทำให้การจัดระเบียบไม่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

    อีกประเด็นที่สำคัญคือ เมื่อรัฐเข้ามาบริหารจัดการระบบขนส่งด้วยตนเอง เช่น การให้บริการรถเมล์ขาวโดยเทศบาลนครเชียงใหม่ในปี 2548 แม้เทศบาลจะมีงบประมาณท้องถิ่นในการสนับสนุนการดำเนินงาน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในการขยายเส้นทางให้ครอบคลุมทั่วถึง เนื่องจากต้องใช้งบประมาณในการสนับสนุนการดำเนินงานด้านอื่น เช่น การจัดเก็บขยะและการซ่อมแซมถนน รถเมล์ขาวจึงสามารถให้บริการได้เพียงในเขตถนนวงแหวนรอบที่ 1 ขณะที่ความต้องการใช้บริการกลับอยู่ในพื้นที่นอกเขตเทศบาล เช่น ถนนวงแหวนรอบที่ 2 ส่งผลให้รถเมล์ขาวไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงสถานที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาลนครพิงค์

    การสนับสนุนงบประมาณจึงเป็นสิ่งจำเป็น ตัวอย่างกรณีรถเมล์ RTC ที่ต้องแบกรับต้นทุนการดำเนินงานที่สูงถึง 102 บาทต่อผู้โดยสาร แต่เก็บค่าโดยสารเพียง 50 บาทเท่านั้น หากไม่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ การดำเนินงานของ RTC จะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำแล้ว ค่าโดยสารที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 35 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ของประชาชนในท้องถิ่น

    ข้อมูลจากการศึกษาของเทศบาลนครเชียงใหม่ ชี้ให้เห็นว่า แม้จะมีการดำเนินงานระบบขนส่งมาหลายปี แต่การขาดงบประมาณ และข้อจำกัดในการขยายเส้นทาง ทำให้รถเมล์ขาวไม่สามารถพัฒนาได้เต็มศักยภาพ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 ปีสุดท้ายของการดำเนินกิจการ มีสัญญาณบวกที่แสดงถึงความต้องการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น

    ดังนั้น การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่จะต้องได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดระเบียบรถสี่ล้อแดง หรือการสร้างรถโดยสารใหม่ สิ่งนี้จะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนให้หันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะได้อย่างยั่งยืน การพัฒนาระบบขนส่งสำหรับนักเรียน หรือเส้นทางที่เชื่อมโยงกับชุมชน โรงพยาบาล ศูนย์ราชการ และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญจะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบขนส่ง

    บันไดขั้นที่สาม เชื่อมโยงโครงข่ายขนส่งสาธารณะ

    การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะต้องไม่เป็นเพียงแค่การจัดหารถโดยสาร แต่ต้องเชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างรถโดยสารและระบบขนส่งขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้าระบบราง ที่รัฐบาลมุ่งเน้นลงทุนมากขึ้น การก่อสร้างระบบขนส่งใหญ่เหล่านี้มักใช้เวลานาน แต่ในระหว่างนั้นควรมีโครงข่ายรถโดยสารที่มีประสิทธิภาพคอยให้บริการ เพื่อให้ประชาชนเคยชินกับการใช้ระบบขนส่งสาธารณะอย่างต่อเนื่อง

    สิ่งเหล่านี้คือขั้นตอนที่อาจนำไปสู่การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ

    เรื่องที่เกี่ยวข้อง

    ติดตาม "ประชาไท Prachatai.com" ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้า https://prachataistore.net
  11. ยางนอกรถจักรยานยนต์ ยางนอกมอเตอร์ไซค์

    Wed, 07 Feb 2024 15:08:54 -0000

    แนะนำ ยางนอก รถจักรยานยนต์ ยางนอกมอเตอร์ไซค์ ราคาพิเศษ สินค้าคุณภาพดีจากผู้ผลิต จัดส่งโดยร้านค้าชั้น...
  12. เกจ์วัดโวลท์แบตเตอรี่

    Wed, 07 Feb 2024 14:59:26 -0000

    แนะนำ เกจ์วัดโวลท์แบตเตอรี่ ราคาพิเศษ สินค้าคุณภาพดีจากผู้ผลิต จัดส่งโดยร้านค้าชั้นนำ มีเก็บเงินปลาย...
  13. เกจ์วัดความร้อนหม้อน้ำ

    Wed, 07 Feb 2024 14:55:39 -0000

    แนะนำ เกจ์วัดความร้อนหม้อน้ำ ราคาพิเศษ สินค้าคุณภาพดีจากผู้ผลิต จัดส่งโดยร้านค้าชั้นนำ มีเก็บเงินปลา...
  14. เกจ์วัดบูส รถกระบะ รถดีเซล

    Wed, 07 Feb 2024 14:43:08 -0000

    แนะนำ เกจ์วัดบูส รถกระบะ รถดีเซล ราคาพิเศษ สินค้าคุณภาพดีจากผู้ผลิต จัดส่งโดยร้านค้าชั้นนำ มีเก็บเงิ...
  15. หินขัดตัว ขัดผิว

    Wed, 07 Feb 2024 14:33:17 -0000

    แนะนำ หินขัดตัว ราคาพิเศษ สินค้าคุณภาพดีจากผู้ผลิต จัดส่งโดยร้านค้าชั้นนำ มีเก็บเงินปลายทาง รับบัตรเ...
  16. กรรไกรตัดผ้า กรรไกรช่างเย็บผ้า

    Mon, 05 Feb 2024 10:26:46 -0000

    แนะนำ กรรไกรตัดผ้า กรรไกรช่างเย็บผ้า ราคาพิเศษ สินค้าคุณภาพดีจากผู้ผลิต จัดส่งโดยร้านค้าชั้นนำ มีเก็...
  17. เข็มเย็บผ้า

    Mon, 05 Feb 2024 10:22:02 -0000

    แนะนำ เข็มเย็บผ้า ราคาพิเศษ สินค้าคุณภาพดีจากผู้ผลิต จัดส่งโดยร้านค้าชั้นนำ มีเก็บเงินปลายทาง รับบัต...
  18. พรมเช็ดเท้า

    Mon, 05 Feb 2024 10:16:35 -0000

    แนะนำ พรมเช็ดเท้า ราคาพิเศษ สินค้าคุณภาพดีจากผู้ผลิต จัดส่งโดยร้านค้าชั้นนำ มีเก็บเงินปลายทาง รับบัต...
  19. กระเป๋าน้ำร้อน ถุงน้ำร้อน

    Mon, 05 Feb 2024 10:08:01 -0000

    แนะนำ กระเป๋าน้ำร้อน ราคาพิเศษ สินค้าคุณภาพดีจากผู้ผลิต จัดส่งโดยร้านค้าชั้นนำ มีเก็บเงินปลายทาง รับ...
  20. กรรไกรตัดหญ้า

    Mon, 05 Feb 2024 10:01:09 -0000

    แนะนำ กรรไกรตัดหญ้า ราคาพิเศษ สินค้าคุณภาพดีจากผู้ผลิต จัดส่งโดยร้านค้าชั้นนำ มีเก็บเงินปลายทาง รับบ...
  21. สุดเศร้า รดน้ำศพ "จุ๋ม นุสรา" พ่อแม่ทำใจไม่ได้ร่ำไห้ตลอดเวลา

    Thu, 01 Nov 2018 12:21:50 -0000

    สุดเศร้า รดน้ำศพ "จุ๋ม นุสรา" พ่อแม่ทำใจไม่ได้ร่ำไห้ตลอดเวลา
  22. 8 แกนนำเพื่อไทยรับทราบข้อหา-ท้า คสช.ลงเลือกตั้งให้ ปชช.ตัดสิน 4 ปีดีจริงหรือไม่?

    Mon, 21 May 2018 08:19:14 -0000

      8 แกนนำเพื่อไทยรับทราบข้อหา-ท้า คสช.ลงเลือกตั้งให้ ปชช.ตัดสิน 4 ปีดีจริงหรือไม่?
  23. "เมียอริสมันต์" รวยผิดปกติ 42.8 ล้าน ป.ป.ช.สั่งอายัดบ้าน-ที่ดิน-เก๋งหรู

    Mon, 21 May 2018 06:48:07 -0000

      "เมียอริสมันต์" รวยผิดปกติ 42.8 ล้าน ป.ป.ช.สั่งอายัดบ้าน-ที่ดิน-เก๋งหรู
  24. แจ้ง 3 ข้อหา สาวขี่มอเตอร์ไซค์จิ๋ว พาเด็กแก้ผ้าซ้อนท้ายกลางเมืองหาดใหญ่

    Sun, 20 May 2018 07:23:33 -0000

      แจ้ง 3 ข้อหา สาวขี่มอเตอร์ไซค์จิ๋ว พาเด็กแก้ผ้าซ้อนท้ายกลางเมืองหาดใหญ่
  25. เด้ง "ผกก.สน.พญาไท" ให้สื่อคุยแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งหน้าห้องขัง

    Thu, 17 May 2018 02:02:57 -0000

      เด้ง "ผกก.สน.พญาไท" ให้สื่อคุยแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งหน้าห้องขัง
  26. ฉาวอีก! สอบภรรยาประธานสายการบิน ‘โคเรียนแอร์’ คดีทำร้ายร่างกาย

    Wed, 09 May 2018 08:02:32 -0000

    ฉาวอีก! สอบภรรยาประธานสายการบิน ‘โคเรียนแอร์’ คดีทำร้ายร่างกาย
  27. ป้าใจร้าย สาดน้ำร้อนหุงข้าวใส่ 3 พ่อลูก เข้าใจผิดว่าเด็กมองหน้า

    Fri, 04 May 2018 06:12:35 -0000

      ป้าใจร้าย สาดน้ำร้อนหุงข้าวใส่ 3 พ่อลูก เข้าใจผิดว่าเด็กมองหน้า
  28. คลินิกฉีดยาให้สาวท้อง 2 เดือน กลับมาแพ้หนัก-แท้งลูกในครรภ์

    Thu, 03 May 2018 06:35:58 -0000

      คลินิกฉีดยาให้สาวท้อง 2 เดือน กลับมาแพ้หนัก-แท้งลูกในครรภ์
  29. พ่อเลี้ยงหื่นขืนใจลูกนานกว่า 3 ปี แม่เด็กเครียดหวิดฆ่าตัวตาย

    Thu, 12 Apr 2018 10:57:14 -0000

      พ่อเลี้ยงหื่นขืนใจลูกนานกว่า 3 ปี แม่เด็กเครียดหวิดฆ่าตัวตาย
  30. “ไอ้หางด้วน งาเดียว” ช้างป่ามีชื่อ ถูกไฟช็อตล้มแล้ว

    Wed, 11 Apr 2018 09:27:54 -0000

      “ไอ้หางด้วน งาเดียว” ช้างป่ามีชื่อ ถูกไฟช็อตล้มแล้ว
  31. ฆ่าโหดเมียตำรวจดับคาบ้าน แม่วัยชราตื่นมาเจอลูกสาวกลายเป็นศพ

    Thu, 05 Apr 2018 06:31:34 -0000

      ฆ่าโหดเมียตำรวจดับคาบ้าน แม่วัยชราตื่นมาเจอลูกสาวกลายเป็นศพ
  32. “อั้ม พัชราภา” โพสต์ภาพคู่ “ตอง ภัครมัย” อายุเข้าเลขสี่ แต่หน้าสดก็ยังเป๊ะเวอร์

    Thu, 05 Apr 2018 05:32:28 -0000

      “อั้ม พัชราภา” โพสต์ภาพคู่ “ตอง ภัครมัย” อายุเข้าเลขสี่ แต่หน้าสดก็ยังเป๊ะเวอร์
  33. หนุ่มวัย 29 ปี โพสต์เฟซบุ๊กสั่งเสีย ก่อนดิ่งคอนโดชั้น 14 ดับ

    Thu, 05 Apr 2018 01:53:54 -0000

      หนุ่มวัย 29 ปี โพสต์เฟซบุ๊กสั่งเสีย ก่อนดิ่งคอนโดชั้น 14 ดับ
  34. แชทหลุด เปรี้ยว หั่นศพ เซลฟี่โชว์ผมสั้น คุยสยิวกับหนุ่มปริศนา

    Fri, 16 Mar 2018 13:52:24 -0000

      แชทหลุด เปรี้ยว หั่นศพ เซลฟี่โชว์ผมสั้น คุยสยิวกับหนุ่มปริศนา
  35. กราดยิงในโรงเรียนรัฐแมริแลนด์ นักเรียนเจ็บ 2 มือปืนดับ

    Thu, 15 Mar 2018 08:29:05 -0000

      กราดยิงในโรงเรียนรัฐแมริแลนด์ นักเรียนเจ็บ 2 มือปืนดับ
  36. ‘หนุ่มเมา’ คว้าปืนยิงทอมข้างห้องดับ ฉุนโดนโวยเสีย

    Sun, 18 Feb 2018 00:50:19 -0000

      ‘หนุ่มเมา’ คว้าปืนยิงทอมข้างห้องดับ ฉุนโดนโวยเสีย
  37. ช็อก “หมอแสง” ลั่น หยุดผลิตยา เผยเสียใจ อธิบดีแพทย์แผนไทยกลับคำ

    Fri, 02 Feb 2018 07:57:18 -0000

      ช็อก “หมอแสง” ลั่น หยุดผลิตยา เผยเสียใจ อธิบดีแพทย์แผนไทยกลับคำ
  38. บ่นอุบ วัยรุ่นมือบอนขีดเขียนชื่อที่ผาหิน-จุดชมวิวอุทยานเขางู

    Fri, 02 Feb 2018 02:13:43 -0000

      บ่นอุบ วัยรุ่นมือบอนขีดเขียนชื่อที่ผาหิน-จุดชมวิวอุทยานเขางู
  39. สาวแสบแชทชวนหลับนอน ขู่ไม่โอนเงินจะฟ้องเมีย

    Fri, 02 Feb 2018 01:25:43 -0000

      สาวแสบแชทชวนหลับนอน ขู่ไม่โอนเงินจะฟ้องเมีย
  40. หนุ่มต่อยผู้หญิงซวยซ้ำ ตร.ตามสืบพบหมายจับคดีทำร้ายร่างกาย

    Thu, 01 Feb 2018 15:08:18 -0000

      หนุ่มต่อยผู้หญิงซวยซ้ำ ตร.ตามสืบพบหมายจับคดีทำร้ายร่างกาย